ดังนั้นในครั้งนี้ เรามาลองดูแนวทาง ที่ทำให้เราสามารถจัดการกับความขัดแย้งในความสัมพันธ์ได้อย่างน่าทึ่ง สรุปออกมาเป็นกระบวนการ 7 ขั้นตอนดังนี้
1. หยุดการโต้เถียง
เมื่อเกิดความไม่ลงรอยใดๆขึ้น ทำท่าจะบานปลาย เป็นการปะทะคารมหรือความ ให้เราหยุดการโต้เถียงทันที อย่าให้ลุกลามเป็นการทะเลาะที่รุนแรง เพราะถ้าไม่เข้าใจกันแล้ว ต่างหาเหตุผล จะไม่มีใครฟังใคร มีแต่พูดให้อีกฝ่ายฟัง บังคับให้อีกฝ่ายเชื่อหรือยอมตาม ซึ่งย่อมจะไม่เกิดผลใดๆ นอกจากจะทำให้เหตุการณ์ตึงเครียดรุนแรงมากขึ้น
2. ดูแลใจตัวเอง
พอเราห่างจากเหตุการณ์ออกมาแล้ว ตอนนี้ให้เราใช้เวลาเงียบๆกับตัวเอง ทิ้งระยะให้สงบสติอารมณ์ได้ก่อน แล้วเริ่มถามตัวเองว่า เราไม่พอใจอะไร เราไม่จำเป็นต้องทน หรือทำเป็นยินยอม ทั้งที่ใจจริงไม่ยอม และขอให้เรามองความต้องการของตัวเองให้ออก ว่าเราอยากให้มันออกมาในรูปแบบไหน อะไรที่มันขาดหายไป
3. พร้อมรับผิดชอบ
เมื่อเราชัดเจนกับตัวเองแล้ว ให้ถามตัวเองว่า เราพร้อมจะเข้ามารับผิดชอบในความขัดแย้งครั้งนี้ไหม คนทั่วไป มักจะโทษอีกฝ่าย 100% ว่าเป็นสาเหตุของเรื่องราว เขาทำให้เราเสียใจ เขาต้องมาขอโทษเราสิ เขาต้องทำนู่น ทำนี่ ให้เราพอใจ เราถึงจะยอมดีด้วย ถ้าใครคิดแบบนี้ คงต้องรอไปอีกนาน เผลอๆไม่มีวันกลับมาดีกันได้อีกเลย
แต่หากเรามองให้ดี ทุกปัญหา เรามีส่วนที่ต้องรับผิดชอบด้วยเสมอ แต่ให้มองว่า มีอะไรที่เราทำได้ มีอะไรที่เราแก้ปัญหาได้บ้าง เฉพาะในส่วนของเรา ให้คำมั่นกับตัวเองว่า เราจะเป็นต้นเหตุ รับผิดชอบที่จะสานสร้างความสัมพันธ์นี้ให้กลับคืนมา
4.ปล่อยวางคำตัดสิน
เมื่อเราเข้าใจตนเองแล้ว ให้ลองมองว่า เราจะวางความเห็นของเราไว้ชั่วครู่ แล้วเริ่มมองเหตุการณ์เดิม ในมุมมองของอีกฝ่ายดูบ้าง ไม่ต้องมองว่าใครผิดใครถูก เราอาจจะไม่เข้าใจ แต่เป็นไปได้ไหม ว่าเราจะ ยอมรับ อย่างที่มันเกิดขึ้น อย่างที่เขาเป็นก่อน
5.ให้อภัย
ขั้นตอนนี้สำคัญมากๆ เราจะไม่สามารถสร้างความสัมพันธ์ใดๆกลับมาได้ หากเรายังโกรธ และไม่พร้อมจะให้อภัย เราไม่สามารถเคลียร์ใจ คุยเปิดอกกับใครได้ หากเรายังมองว่าเขาผิด เราถูก หรือเขาด้อยกว่า เราเหนือกว่า จะสร้างพื้นที่แห่งความเข้าใจได้ ต้องมาจากความเท่าเทียมและปราศจากการกล่าวโทษ
เราต้องใช้จิตใจที่มีเมตตา และเต็มเปี่ยมไปด้วยความรัก เราถึงจะให้อภัยคนๆหนึ่งได้โดยไม่มีเงื่อนไข แม้ว่าเขายังไม่ได้เปลี่ยนไปเลย แต่เราสามารถให้อภัยเขาก่อนได้
6.กล้าเปราะบาง
ปล่อยวางความเป็นผู้ถูก ความที่เราต้องดูดี วางหัวโขนใดๆที่สวมใส่ไว้ ไม่ว่าอยู่ในฐานะอะไร แล้วยอมเปราะบาง ยอมห่วยไม่ต้องดีก็ได้ ยอมอ่อนแอ ไม่ต้องเก่งก็ได้ เป็นเพียงคนธรรมดาๆที่พร้อมจะเรียนรู้และรับฟัง พร้อมจะมองจากมุมมองที่แตกต่าง พร้อมจะทำความเข้าใจ และไม่ปกป้องตัวเอง
มาถึงจุดนี้ เราจะสามารถปลดพันธนาการทางใจออกไปได้หมดแล้ว เราพร้อมแล้วที่จะเดินเข้าไปหาเขา ขอโทษในสิ่งที่เราทำผิด ให้อภัยในความพาดพลั้งไม่ตั้งใจของเขา เราพร้อมจะเปิดใจและพร้อมที่จะรับฟัง เรียนรู้ในมุมมองของเขา
7.สื่อสารโดยไม่คาดหวัง
ให้เราสื่อสารด้วยความเท่าเทียม เคารพในความคิดเห็น มุมมองของเขา ไม่พยายามจะยัดเยียดความคิดของเรา ไม่พยายามเปลี่ยนแปลงความคิดเขา ไม่พยายามแก้ไข ไม่คาดหวังว่าเขาจะเข้าใจ ตอบรับ หรือมาคืนดีกับเรา นั่นไม่สำคัญเลย
สิ่งสำคัญก็คือ เราได้เคลียร์ใจตัวเองได้หมดแล้ว ไม่ว่าเขาจะรู้สึกอย่างไรกับเรา ก็ไม่เปลี่ยนแปลงความรู้สึกของเราที่มีต่อเขาได้ คำพูดไม่ว่าจะเต็มไปด้วยเหตุผลมากแค่ไหน มันไม่อาจเปิดใจของเขาได้เท่ากับ “ท่าทีของเรา” ที่เข้าไปพูดกับเขาด้วยความรักและมิตรภาพ ปราศจากโทสะและกำแพงแห่งอคติเหมือนก่อนหน้านี้
มีข้อสังเกตว่า ข้อสุดท้ายนี้ เป็นเพียงข้อเดียว ที่เรามีการกระทำหรือปฏิสัมพันธ์กับคู่กรณีส่วนข้อ 1-6 นั้น เป็นการเตรียมเรื่องภายในใจของเราเพียงฝ่ายเดียวดังนั้นเราจะเห็นได้ว่ากระบวนการจัดการความขัดแย้งที่กล่าวมา ไม่ได้เกี่ยวกับเทคนิคการสื่อสาร ทักษะการพูด หรือการปฏิบัติตัวอย่างให้เหมาะสมอย่างไรเลย
หัวใจสำคัญก็คือ “การจัดการภายในใจ” ของเราล้วนๆ จึงนับว่าเป็น “ศิลปะเพื่อจัดการความขัดแย้ง” อย่างแท้จริง...
.........................
โดย “เรือรบ” ปรับปรุงจากบทความในวารสารกายใจ กรุงเทพธุรกิจ ฉบับ ม.ค.56
โดย “เรือรบ” ปรับปรุงจากบทความในวารสารกายใจ กรุงเทพธุรกิจ ฉบับ ม.ค.56
คอร์สอบรม "Dialogue ศาสตร์แห่งการหันหน้าเข้าหากัน" ผมจัดเป็นประจำทุกเดือน
อ่านรายละเอียดหลักสูตรที่ http://www.learninghub.in.th/events/dialogue
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น