ข้อจำกัดสำคัญที่มักจะก่อให้เกิดปัญหาใหญ่ในวงสนทนา
นั่นก็คือการขัดแย้งกันด้วย “ความคิดเห็นและความเชื่อ” ซึ่งมีพื้นฐานมาจากสิ่งที่เราเรียกว่า
“ความจริง”
เมื่อใครก็ตามนิยามความจริงนี้ให้กับเรื่องใดๆ
มันจะเป็นความเชื่อฝังใจ เปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่นไม่ได้เลย ยกตัวอย่างเช่น
ต้องมีเงินมากพอเพื่ออนาคตที่ดีกว่า ต้องมียศตำแหน่ง มีอำนาจบารมี
เพื่อให้เราภาคภูมิอยู่ในสังคมนี้ได้ ต้องรักษาเกียรติยศศักดิ์ศรีไว้
ยิ่งกว่าชีวิตของตนเอง
ต้องทุ่มเทให้มีความสำเร็จในหน้าที่การงาน
เพื่อพิสูจน์ว่าเราก็ไม่ได้น้อยหน้าใคร แต่ละคนก็จะมีความจริงที่แตกต่างกันออกไป
และก็มักจะเชื่อและยึดถือแนวทางนั้นในการใช้ชีวิต
เรามี “ความจริงของเรา” แต่มีบางคนที่มี “ความจริงในแบบของเขา” แล้วถ้าหากสองสิ่งนั้น มีประเด็นที่แตกต่างหรือซ้อนทับกัน
คราวนี้จึงเกิดเป็นความขัดแย้งกันขึ้น
ยิ่งเราเห็นว่าความจริงนั้นสำคัญมาก
จนมันเป็น “ความจริงสูงสุด”
พลังแห่งความขัดแย้งก็จะมากขึ้น มันจะขับเคลื่อนให้เรา “ทำอะไรที่จำเป็นต้องทำ” ลงไปอย่างง่ายดาย
เราจะถูกเร้าให้ต้องแตกหักกับเรื่องๆนั้น แล้วก็ต้องเป็นฝ่ายชนะด้วย
บางทีความจริงสูงสุดนั้น
ก็มีพลังมากกว่าสัญชาติญาณรักสงบของเรา
มันมากพอที่จะทำให้คนเราสามารถเข่นฆ่าซึ่งกันและกันได้
เมื่อเราให้ความสำคัญกับสิ่งสมมติ อาทิ ประเทศชาติ ศาสนา ว่ามันเป็นความจริงสูงสุด
ที่เราต้องพิทักษ์รักษาไว้ เราจึงจำเป็นต้องกระทำทุกอย่างเพื่อปกป้องสิ่งที่เราศรัทธาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
…………………..
ความชอบธรรมแห่งสงคราม
เมื่อกลุ่มสองกลุ่มที่มีคติความเชื่อที่แตกต่างกัน
และเกิดมีความขัดแย้งเกิดขึ้น สมาชิกในแต่ละฝ่ายก็จะมีความคิดไปในทางเดียวกันว่า เราต้องหาทางกำจัดฝ่ายตรงข้ามให้ได้
หากมันยังอยู่ ก็จะมาคอยขัดขวางเรา และเป็นภัยอันตรายต่อกลุ่มของเรา
หากเรากำจัดพวกมันไปได้ เมื่อนั้นเราจะได้เป็นอิสระ มีเสรีภาพที่มากกว่านี้
เราจึงจำเป็นและมีความชอบธรรมที่จะเข้าสู่สงคราม
คนเหล่านี้
คิดว่ามันเป็นการกระทำในสิ่งที่ถูกต้อง น่าภาคภูมิ แล้วผลลัพธ์นั้น
ย่อมจะทำให้กลุ่มมีอิสระ เสรีภาพ
แต่ที่จริงแล้ว
มันเป็นเพียงภาพลวงตา เพราะพวกเขายังติดอยู่ใน “กับดักทางความคิดของตนเอง”
และถูกมันขับเคลื่อนให้ทำอะไรในทางที่จำกัดมากๆ นั่นก็คือ ไม่ดีก็เลว ไม่ถูกก็ผิด
ไม่อยู่ก็ไป ไม่ชนะก็แพ้ จึงไม่นับว่า
พวกเขามีเสรีภาพหรือมีความสร้างสรรค์ที่แท้จริงแต่อย่างใดเลย
บางคนบอกว่า อยากเป็นอิสระ
ที่จะทำตามใจตัวเองได้เสมอ ทำเฉพาะสิ่งที่ตัวเองเลือก สิ่งที่ตนชอบ
แต่เขาหารู้ไม่ว่า ภายใต้ “ความพอใจ” นั้น ถูกขับเคลื่อนจากสมมติฐาน กรอบความคิดของกระแสสังคม
หรือความเชื่อค่านิยมบางอย่างอยู่ก่อนแล้ว หาได้เป็นความสร้างสรรค์ของคนผู้นั้นไม่
แถมมันยังเป็นกรอบความคิด ให้คนผู้นั้นไม่สามารถทำสิ่งที่ “แตกต่างออกไป”
จากสิ่งที่เขาเชื่อได้
………………….
อิสรภาพที่แท้จริงคืออะไร
เราต้องเป็นผู้กำหนดความจริงสูงสุดได้ด้วยตัวเราเอง
และหมั่นคอยสังเกตว่า สมมติฐานที่เรามองว่าความจริงสูงสุด
ที่ขับเคลื่อนเราให้ทำหรือไม่ทำอะไรนั้น
มันใช่สิ่งที่เราต้องการในเบื้องลึกจริงหรือไม่ มันใช่ทางเลือกของเราจริงๆหรือไม่
มิเช่นนั้นเราก็จะตกเป็นทาสทางความคิดของผู้อื่นไปตลอดชีวิต
คำถามต่อเนื่องก็คือ
มันจะเป็นไปได้ไหม ที่จะไม่ต้องเกิดเหตุการณ์รุนแรง
ซึ่งมาจากความแตกหักกันระหว่างสองฝ่าย ที่ต่างแบ่งขั้วตรงข้ามกัน
และไม่สามารถเจรจา ต่อรอง หรือประนีประนอมยอมความกันได้
คำตอบก็คือ เป็นไปได้
แต่จะไม่เกิดขึ้นจนกว่าทั้งสองฝ่ายจะยอมปล่อยวาง หรืออย่างน้อย
เริ่มตั้งคำถามกับตัวเองว่า สิ่งๆนี้มันใช่ “ความจริงสูงสุด” จริงๆน่ะหรือ
เมื่อได้ตั้งคำถามนี้กับตัวเอง
บางทีก็จะเห็นว่า จริงๆแล้วก็ไม่ได้มีอะไรที่ “จริงสูงสุดหนึ่งเดียว” ถึงขนาดนั้น มันเป็นเพียงแค่
“ความเชื่อ และความคิดเห็น” ที่เราเลือกบอกว่ามันจริง แล้วพอเวลาผ่านไป
มันก็เลยกลายเป็น “ความจริง” สำหรับเรา
เมื่อเห็นว่า
เราเป็นผู้เลือกที่จะเชื่อเอง ไม่ได้มีใครบังคับ แล้วนั่นจึงเป็นโอกาสที่จะได้เริ่มละวางกับความยึดติดทางความคิดของตนเอง
แล้วเกิดการหารือในมุมมองใหม่ที่ต่างออกไป ซึ่งไม่จำเป็นต้องมีฝ่ายใดที่ชนะหรือแพ้
แต่ได้พบทางออกใหม่ที่สร้างสรรค์ และ “สร้างความจริงใหม่” ร่วมกัน
ส่วนคำตอบที่ว่าจะทำอย่างไรนั้น
เราแต่ละคนต้องทำการฝึกฝน เพื่อลดทอนอัตตา ความยึดมั่นถือมั่นในความคิดตนเอง
ซึ่งหนึ่งวิธีการฝึกก็คือ “การเข้าสู่วงไดอะล็อค”
ซึ่งกระบวนการนี้ จะทำให้เราได้ฝึก
“การห้อยแขวนคำตัดสิน” ด้วยการมองเห็นถึงความเชื่อส่วนตัว และยอมรับในความเชื่อของกลุ่ม
ว่าสิ่งใดคือความจริงสูงสุดของแต่ละคน
หากเราต้องการพูดคุยกันอย่างเท่าเทียม
เราต้องห้อยแขวนคำตัดสินของตนไว้ก่อน และก้าวเข้าไปรับรู้โลกอีกใบ
เพื่อทำความเข้าใจ หัวใจอีกดวงหนึ่ง บนพื้นฐานของความเชื่อและความจริงของเค้า
แล้วจึงจะเกิดการพูดคุยกันอย่างเป็นอิสระ
ปราศจากอคติและกรอบความคิดเดิมๆของแต่ละคน นี่จึงจะก่อให้เกิดพื้นที่ใหม่ๆ
ที่จะมีความสร้างสรรค์
และเป็นการสนทนาที่เป็นมิตรและมีสันติภาพต่อทุกฝ่ายอย่างเท่าเทียมเสมอกัน
นี่ต่างหากคือ “อิสรภาพที่แท้จริง”
………………..
โดย “เรือรบ” ปรับปรุงจากบทความวารสารกายใจ หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ เมื่อ ส.ค.55
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น