วันอังคารที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2557

ไดอะล็อคกับองค์กรแห่งการเรียนรู้

กูรูด้านการจัดการความรู้ (Knowledge Management: KM) หลายท่าน กล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า กระบวนการไดอะล็อค (Dialogue) สามารถเปลี่ยนแปลงให้องค์กรเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ (Learning Organization: LO) และสามารถสร้างวัฒนธรรมใหม่ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของผู้คนในองค์ได้เป็นอย่างดี ในตอนนี้จะขยายความว่า ทำได้อย่างไร

หากไดอะล็อคสามารถทำได้อย่างครบกระบวนการ จะเกิด 4 สภาวะนี้เป็นลำดับไป

ขั้นแรก: ทดลองหยั่งเชิง

เมื่อเริ่มแรกในการเข้ามานั่งล้อมวงพูดคุยกันแบบไดอะล็อคนั้น สมาชิกแต่ละคนอาจแสดงความคิดเห็น ความสนใจในประเด็นต่างๆไปตามที่ตนถนัด ในกลุ่มนั้นก็เปรียบได้กับสังคมเล็กๆ ที่มีหลากหลายความคิด หาได้มีความเชื่อมโยงเกี่ยวเนื่องกันไม่

หากมองในระยะสั้น จะมีแต่ความคิดและคำพูดที่ดูกระจัดกระจายไปคนละทิศคนละทาง อาจดูว่าจับสาระหาประเด็นอะไรไม่ได้ แต่นั่นก็คือขั้นตอนต้นๆของการแสดงความเป็นตัวเองออกมา แสดงถึงความมีอยู่ ความจริงแท้ของตัวตนแต่ละคน

ในช่วงแรกๆนี้แต่ละคนก็อาจยังไม่ไว้ใจ ไม่สนิทใจกันนัก ความระมัดระวังในคำพูดจึงยังมีสูง และไม่สามารถจะหาทิศทางใดๆได้ อาจจะดูน่าอึดอัดสำหรับบางคน แต่ “การทดลองหยั่งเชิง” นี้ หากผ่านไปได้ด้วยดี ก็เป็นขั้นตอนที่สำคัญในระยะเริ่มต้นที่จะเป็นต้นเหตุในการจุดประกายทางความคิดในระยะต่อไป

ขั้นที่สอง: ไหลลื่นทางความคิด

หากได้ดำเนินวงเป็นระยะเวลาหนึ่ง แต่ละคนรู้จักคุ้นเคยกับการห้อยแขวนคำตัดสินแล้ว สิ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือ การไหลเวียนที่ไม่สะดุดทางความคิด เราจะพบว่าเมื่อเกิดความสนใจร่วมกันในประเด็นใดประเด็นหนึ่งขึ้นมา โดยคนหนึ่งอาจเริ่มยกประเด็นนี้ขึ้นมา แล้วอีกคนก็สนใจเสริมต่อ ตามด้วยอีกคน และอีกคน
เมื่อไม่มีการตัดสิน วิพากษ์วิจารณ์ สอดแทรกหรือเบรกกัน ก็จะกลายเป็นบรรยากาศที่เหมาะต่อการแตกแขนงทางความคิด และการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆต่อยอดจากความคิดเดิม เป็นกระแสของความคิดที่ไหลเวียนอยู่ในกลุ่ม

เราจะพบว่าในขั้นนี้ การสนทนาจะไม่มีการโน้มน้าวให้เชื่อ ไม่มีการชักจูงหรือต่อรองใดๆ ไม่ต้องมีคำหวานหูหรือการเสแสร้งเอาใจกัน มีแต่ความจริงแท้ต่อกันและการไหลวนทางความคิดที่เสริมและต่อเนื่อง เป็นบรรยากาศที่หาไม่ได้ในวงสนทนาใดๆ

ขั้นที่สาม: เกิดความคิดเห็นร่วม

เมื่อกลุ่มมีเป้าหมายร่วมกันแล้วเช่นนี้ ในที่สุดจะเกิดความคิดเห็นร่วมออกมา และเห็นเป็นความจำเป็นบางอย่างที่สามารถขับเคลื่อนให้แต่ละคนทำอะไรบางอย่างร่วมกันได้
แม้ว่าบางคนอาจจะมีส่วนร่วมมาก บางคนอาจจะมีส่วนร่วมน้อย อย่างไรก็ตาม แต่ละคนมีความสบายใจที่จะมีส่วนร่วมตามความต้องการของตน และไม่มีใครเป็นผู้นำหรือผู้ตาม ไม่มีใครสั่งใคร มีแต่ความเข้าใจและมองภาพไปในทิศทางเดียวกัน เป็นการส่งเสริมและต่อเติมซึ่งกันและกัน 

ดังนี้ วงไดอะล็อคก็จะถือเป็นการหาความหมายร่วมกัน ซึ่งหากองค์กรใดหรือสังคมใดมีบรรยากาศแบบนี้ ก็จะมีประสิทธิภาพในการดำเนินกิจการร่วมกันอย่างมาก

ขั้นที่สี่: เกิดองค์กรจัดการตัวเอง

จริงอยู่ว่า ในคนหมู่มาก เป็นไปไม่ได้ที่ประเด็นในรายละเอียด จะต่างเห็นพ้องต้องกันทั้งหมด แต่ในเมื่อทุกคนไม่พยายามเอาความคิดเห็นของตนเป็นที่ตั้ง หากแต่มองในภาพรวมหรือประโยชน์ของกลุ่มมากกว่า ทำให้สามารถละวางความคิดเห็นส่วนตัวของตน เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายที่ใหญ่กว่าร่วมกัน การโต้เถียงจึงไม่เกิดขึ้น มีแต่การรับฟังกันและช่วยกันอุดข้อบกพร่องหรือจุดอ่อน และเสริมให้จุดแข็งมีความสมบูรณ์มากขึ้น

เมื่อความคิดส่วนตัวและความคิดของกลุ่ม สอดคล้องกลมกลืนกันไปในทิศทางเดียว การอาศัยอยู่ในกลุ่มจึงเป็นความอบอุ่นปลอดภัย เป็นการนำพากันไปในความสนใจและเป้าหมายร่วมกัน เต็มใจทำสิ่งที่ตนเลือกเองอย่างสมัครใจและกระตือรือล้นเกิดสภาวะของ “องค์กรจัดการตัวเอง” แต่ละคนออกไปทำงานด้วยแรงบันดาลใจ โดยที่ไม่ต้องสั่ง ไม่ต้องเคี่ยวเข็ญ และไม่ต้องโน้มน้าวปลุกพลังแต่อย่างใด

พร้อมกันนั้น กลุ่มก็ยังมีการแลกเปลี่ยนพูดคุยกันอย่างต่อเนื่อง ทำให้แม้ภาพสถานการณ์รอบนอกแปรเปลี่ยนไป กลุ่มก็จะสามารถปรับตัวรับสถานการณ์นั้นได้อย่างทันท่วงที เพราะสมาชิกในกลุ่มเปิดกว้างรับข้อมูลใหม่ๆ และปรับตัวไปตามทิศทางเดียวกันได้อย่างกลมกลืนและรวดเร็ว
...........................

“องค์กรแห่งการเรียนรู้” (Learning Organization)

นี่คือวัฒนธรรมองค์กรที่เราต้องการให้มี เพื่อมุ่งสู่การเป็น “องค์กรแห่งการเรียนรู้ “ส่วนองค์กรที่ขับเคลื่อนช้าหรือล้าหลังนั้น จริงๆมิใช่เพราะองค์กรใหญ่อุ้ยอ้ายอย่างที่เคยเข้าใจ แต่เป็นเพราะการไหลเวียนของการสื่อสารขององค์กรติดขัด ไม่ใช่ทางเทคนิค แต่เป็นการขาดการสื่อสารซึ่งกันและกัน และการมีความคิดเห็นที่ขัดแย้งไม่ลงรอยกันในองค์กรเอง ขัดแข้งขัดขากันเอง เบรกกันเอง นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นของความล้มเหลวในองค์กร

ดังนั้น ไดอะล็อคจึงเป็นเครื่องมือที่สำคัญ ในการอยู่รอดของสังคมในยุคสมัยหน้า เมื่อสังคมมีความซับซ้อนและใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ผนวกด้วยความขัดสนทางทรัพยากรและความยากเข็ญจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ เราจะอยู่รอดกันได้อย่างไรหากไม่รู้จักวิธีในการหันหน้าเข้าหากัน

ไดอะล็อคสามารถปรับใช้ได้ทั้งในระดับคนต่อคน กลุ่มคน หรือกระทั่งระดับสังคมก็ตาม หากได้มีการนำไปใช้อย่างกว้างขวาง ย่อมจะสร้างค่านิยมแห่งการ “ค้นหาความหมายร่วม” มากกว่าใครชนะ ใครแพ้
สร้างการประสานความร่วมมือกัน มากกว่า ใครดี ใครได้
ค้นหาความสอดคล้องกัน มากกว่า ใครผิด ใครถูก

การสร้างสรรค์วัฒนธรรมใหม่ของสังคมที่มีแต่สันติภาพและความสร้างสรรค์ เริ่มด้วยการใช้ไดอะล็อคเพื่อสร้างวิถีใหม่ในการสนทนานั่นเอง
............................

โดย “เรือรบ” ปรับปรุงจากบทความวารสารกายใจ หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ เมื่อ ส.ค.55


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น