ในหนังสือ On Dialogue (2004) ของ David Bohm ได้อธิบายความหมายของรากศัพท์ดั้งเดิมของ Dialogue ว่ามาจากภาษากรีกโบราณสองคำ
คำแรก คือ Dia = Through แปลว่า การทะลุทะลวง
และอีกคำคือ Logos = Meaning of the word แปลว่า ความหมายของคำที่พูดออกไป
ซึ่งในความหมายใหม่ของคำว่า ‘Dialogue’ มิใช่เพียงแค่ การเข้าใจความหมายของคำที่พูดออกมาแบบทะลุทะลวง แต่เป็น Stream of meaning หรือ “กระแสธารของความหมาย” อันเป็นคุณค่าและองค์ความรู้ที่สามารถไหลเลื่อนเคลื่อนที่ ถ่ายเทไปหากันได้ โดยปราศจากการปิดกั้น (Blocking) ของสิ่งสมมติใดๆที่คนเรามักสร้างขึ้นมา ไม่ว่าจากความเชื่อ ความยึดถือต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นทั้ง วัยวุฒิ คุณวุฒิ อำนาจ ยศถาบรรดาศักดิ์ หรือตำแหน่งหน้าที่ใดๆ ซึ่งต่างก็เป็นสิ่งสมมติที่สร้างให้เกิดความเหลื่อมล้ำและความขัดแย้งกันทางความคิดทั้งสิ้น
การสนทนาแบบไดอะล็อคนั้น อยู่คู่กับสังคมมนุษย์ในชีวิตประจำวันมานานแล้ว เราอาจพอจะนึกภาพการล้อมวงรอบกองไฟของชนเผ่าในแอฟริกา หรือการล้อมวงพูดคุยกันหลังรับประทานอาหารของครอบครัวตามชนบทของไทยในอดีต
แต่ในปัจจุบันเมื่อแต่ละบ้านมีเทคโนโลยีเข้ามาในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็น โทรทัศน์ คอมพิวเตอร์ Laptop Tablet Smartphone สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ ทำให้เกิดสภาวะที่ต่างคนก็ต่างมีโลกส่วนตัวของตนเอง
พอตกเย็นก็เข้าห้องไปหาความบันเทิงส่วนตัว การพูดคุยกันในบ้านจึงน้อยลง การสนทนาที่น้อยลงจึงเป็นบ่อเกิดของความขัดแย้งและความไม่เข้าใจกันในครอบครัว ส่งผลถึงการขาดทักษะในการฟังและการสื่อสารของสมาชิกในครอบครัวด้วย
เมื่อครอบครัวห่างเหินกัน ดังนั้นคนในสังคมเราจึงแปลกแยกกันมากขึ้น ไม่แปลกที่เรามีความความเห็นไม่ตรงกันในเรื่องเพียงเล็กน้อย แต่แล้วก็เกิดเป็นความบาดหมางไม่เข้าใจกัน และกลายเป็นศัตรูกันในที่สุด
จุดเริ่มต้นของความแตกแยกกันในสังคม ก็คือความอ่อนแอของสถาบันครอบครัว และก็มาจากการขาดทักษะการฟังและการสื่อสารกันระหว่างบุคคลนั่นเอง โบห์ม คาดหวังไว้ว่า ในโลกยุคหน้า ไดอะล็อคจะเป็นหนึ่งในกระบวนการที่สร้างสรรค์สันติสุข ให้กับมนุษยชาติในอนาคตเลยทีเดียว
สำหรับในประเทศไทย องค์กรที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง อาทิ เครือปูนซีเมนต์ไทย เครือเจริญโภคภัณฑ์ ก็ได้นำกระบวนการไดอะล็อคมาแนะนำ และอบรมให้กับพนักงานอย่างต่อเนื่อง
โดยกำหนดให้กระบวนการนี้ มาใช้เป็นเครื่องมือสำคัญในการจัดการความรู้ ส่งเสริมให้เกิดการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ จากการคิดร่วมกัน จึงเห็นได้ว่ากระบวนการนี้กำลังได้รับความสนใจ และมีแนวโน้มว่าจะถูกนำไปใช้อย่างกว้างขวางในทุกวงการในอนาคต
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น