วันจันทร์ที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2557

กระจกสะท้อนชีวิต (2)

การที่เรามาเจอกันในวงไดอะล็อคนั้น ก็เพื่อฝึกฝนการสนทนารูปแบบใหม่ ที่เน้น “การรับฟังอย่างลึกซึ้งและไม่ตัดสิน” ทำให้เกิดการ “เข้าใจผู้อื่น” ส่งผลกลับมาเป็นการ “เข้าใจตัวเอง” มากขึ้น จนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาตนเองได้ในระดับเบื้องลึกของจิตใจในที่สุด
ผมเริ่มวงด้วยการให้สมาชิก “เช็คอิน” โดยเล่าให้เพื่อนๆในวงฟังว่า ในสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังจากเราเรียนรู้เรื่องไดอะล็อคไปแล้ว เรานำไปใช้ในชีวิตประจำวันอย่างไร และเกิดความเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง

น้องโบวี่ นักศึกษาแพทย์สาว ที่เคยมีปัญหาเก็บกดเรื่องคุณพ่อจากเมื่อสัปดาห์ก่อน วันนี้เริ่มเล่าเป็นคนแรกอย่างร่าเริงว่า “หนูกลับไปรับฟังคุณพ่อมาค่ะ ทำให้รู้ว่า จริงๆแล้ว คุณพ่อเค้าเป็นห่วงหนูมาก ที่เค้าบ่นเยอะๆ เป็นเพราะว่าเค้านั่นแหละที่เก็บกด มีเรื่องอะไรไม่กล้าคุยกับหนูตรงๆ พอเก็บไว้หลายวันเข้า ได้จังหวะพูดขึ้นมา มันก็เลยเหมือนระเบิดลง...

จริงๆแล้วมารู้ทีหลังว่า เค้าเตรียมตัวเตรียมใจตั้งนาน กว่าจะพูดกับหนูได้ พอเราคุยกันจบ เชื่อมั้ย หนูก็โผเข้าไปกอดเค้าเลย เพราะเรารับรู้ความรู้สึกของเค้าได้จริงๆ ว่าเค้าแคร์เรามากขนาดไหน หลังจากวันนั้นมา หนูก็มักจะกอดเค้ามากขึ้น แล้วก็พูดอะไรขำๆกับเค้ามากขึ้น เห็นเลยว่าบรรยากาศในบ้านเปลี่ยนไป เค้าดูผ่อนคลาย และหัวเราะกับเรามากขึ้น” สาวน้อยของเรายิ้มแก้มแทบปริหลังจากพูดจบ

คุณสายรุ้ง สาวออฟฟิตทำงานด้านงานวิชาการ เล่าสะท้อนเรื่องของตัวเองว่า “ปกติรุ้งเป็นคนคุยไม่เก่ง พอเราออกจากบ้านต่างจังหวัดมา แล้วก็มาทำงานในกรุงเทพ ทำให้ไม่ค่อยได้คุยกับแม่ พอโทรศัพท์หาแม่ ก็ได้แต่ถามว่า สบายดีมั้ย กินข้าวรึยัง คุยได้แค่นั้น ก็ไม่รู้จะพูดอะไรต่อ แล้วเลยก็วางหูเรารู้สึกเลยว่า เราห่างจากแม่มากขึ้นเรื่อยๆ

พอได้มารู้จักไดอะล็อค รุ้งก็นำไปใช้ เมื่อได้คุยโทรศัพท์กับแม่ รุ้งแค่รู้สึกว่า อยากฟังแม่พูด อยากให้แม่เล่า แล้วรุ้งก็แค่ฟังอย่างตั้งใจ ปรากฎว่า แม่เล่าเยอะมาก รุ้งก็คุยกับแม่สนุกมาก เพราะเราใส่ใจฟังเขา เราเห็นคุณค่าในสิ่งที่เขาพูด เราก็ยังพูดไม่เก่งเหมือนเดิม แต่เราฟังเก่งขึ้น การสนทนาและความสัมพันธ์ของเราก็ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด รู้สึกสบายใจมากเลยค่ะ”

คุณมาด เจ้าของกิจการส่วนตัว เล่าให้ฟังว่า “ผมยอมรับว่าเป็นคนใจร้อน ยิ่งตอนขับรถ ถ้าใครมาปาดหน้า หรือทำอะไรให้ไม่พอใจ ผมพร้อมมีเรื่องเสมอ ผมไม่เคยกลัวใคร

ไม่นานมานี้ ผมขับรถอยู่เพลินๆ พอดีมีรถเข็นขายของ โผล่ออกมาจากซอยทางขวา ผมก็เลยเบี่ยงหลบกะทันหัน ปรากฏว่ามีมอเตอร์ไซด์คันโต วิ่งแซงมาทางซ้ายพอดี ผมเกือบเบียดไปโดนเค้า เท่านั้นแหละ เค้าก็ขับเบียดปาดมาใกล้ๆ พยายามให้ผมหยุดรถ แล้วก็ชี้หน้าผมพร้อมกับส่งสายตาอาฆาตมาดร้าย มีเสียงด่าหยาบคายดังทะลุกระจกเข้ามาเลย

ผมรู้สึกจี๊ดขึ้นมาทันทีเหมือนกัน ผมจอดรถจะเปิดประตูลงไปฉะด้วย แต่ในชั่ววินาทีนั้น ด้วยการฝึกไดอะล็อค ที่สอนให้เราไม่ด่วนตัดสิน มันทำให้อยู่ๆ ผมก็เกิดมีสติขึ้นมาว่า ใครๆก็รักชีวิตเหมือนกับเรา คนๆนี้เค้าก็อาจบาดเจ็บหนักเพราะเราได้ เค้าเองก็มีสิทธิ์โกรธเหมือนๆกับเราเช่นกัน เมื่อคิดได้ดังนั้น ผมก็เลยยกมือขึ้นไหว้ท่วมหัวหนึ่งครั้งอย่างงามๆ พอเงยหน้าขึ้นมา คู่กรณีก็บึ่งรถหายไปแล้ว

ผมได้มาคิดย้อนดูอีกที อันที่จริง ผมก็มีลูกมีเมียแล้ว ถ้าเกิดมีเรื่องกับผู้ชายคนนี้ ใครจะรู้ ว่าผมจะได้กลับไปหาครอบครัวหรือเปล่า

ไม่ใช่ครั้งนี้ครั้งเดียว ที่ไดอะล็อคทำให้ผมเท่าทันตัวเองมากขึ้น ช้าลงในการตัดสินใจ ปกติที่ยอมใครไม่ได้ ผมก็ช้าลงในการตอบโต้ แล้วก็เหมือนมีอีกเสียงหนึ่งบอกตัวเองว่า เราไม่จำเป็นต้องเป็นอย่างเดิม ทำอย่างเดิมเสมอไป เราเลือกทำสิ่งใหม่ๆได้เสมอ...”
...................

เวลาผ่านไปแค่สองอาทิตย์ เพื่อนๆในวงของเรา ได้นำประสบการณ์ที่ได้กลับไปฝึกฝน เกิดการเปลี่ยนแปลงที่น่าทึ่งด้วยตัวของพวกเค้าเอง เกิดผลลัพธ์ที่ทำให้ชีวิตแต่ละชีวิต มีความสุขมากขึ้น และคนรอบตัวของพวกเค้าก็มีความสุขด้วยเช่นกัน

คงไม่มีใครมองเห็นจุดบอดของตัวเอง เพราะถ้ามองเห็น นั่นก็ไม่เรียกว่าเป็น “จุดบอด” จริงไหมครับ ยังมีสิ่งที่เราไม่รู้ ว่าไม่รู้อีกมากมายนัก และคงไม่มีใครจะทำให้เรามองเห็นได้ นอกจากสภาพแวดล้อมบางอย่าง ที่ผ่อนคลายมากพอ ทำให้เราเปิดใจมากพอ และเป็น “กระจกสะท้อนชีวิต” ที่ฉายให้เรา มองเห็นตัวเองได้ ในมุมที่เราไม่เคยมองมาก่อน...


เราเท่านั้นที่จะเป็นผู้มองเห็นตัวเอง โดยที่ไม่ต้องมีใครมาชี้นำสั่งสอน เราจะเป็นผู้เลือกที่จะเปลี่ยนแปลงการกระทำบางอย่าง ที่เห็นว่าเหมาะสมมีเหตุผลด้วยตัวเอง และพร้อมที่จะกลับมาแชร์เรื่องราวดีๆ และเรียนรู้ร่วมกันไปกับเพื่อนๆ กัลยาณมิตรในวงสุนทรียสนทนาของเราอีก ในครั้งต่อๆไป


วันพฤหัสบดีที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2557

กระจกสะท้อนชีวิต (1)

เมื่อผมได้เปิดพื้นที่ “วงฝึกไดอะล็อค” ให้กับเพื่อนใหม่ ที่ติดตามอ่านคอลัมน์ “การเดินแห่งความสุข” ของหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ให้มีโอกาสเข้ามาเรียนรู้ไปพร้อมกัน จึงนำพาให้เกิดการมาตั้งวงสนทนาพูดคุยกันเป็นประจำทุกวันเสาร์ สัปดาห์เว้นสัปดาห์

ในวันนี้ หลังจากแต่ละคนได้แนะนำตัว และกล่าวถึงจุดประสงค์ในการมาร่วมวงกันแล้ว เราก็เริ่มการสนทนาที่แปลกประหลาดที่สุด นั่นก็คือ พูดคุยกันโดยที่ไม่มีหัวข้อ ไม่มีวาระ ไม่มีประเด็น แล้วก็ปล่อยให้บรรยากาศในวงนำพาไป

เอ๋ หนุ่มวิศวกร เริ่มขึ้นมาว่าตัวเองรู้สึกรำคาญทุกครั้ง ที่พอกลับบ้านมาทีไร แม่ก็จะถามว่า “กินข้าวหรือยัง” ตัวเขาเองก็จะหงุดหงิด ว่าทำไมต้องถามด้วย ในเมื่อดึกขนาดนี้ก็ต้องกินมาแล้วแน่นอน เขารู้สึกว่าตัวเองโตมากแล้ว แม่ไม่ควรมาซักไซ้กับเรื่องแบบนี้

บางครั้งแม่ก็ชอบถามว่า ไปไหนมา ทำไมกลับดึก เขาก็ยิ่งไม่เข้าใจว่า ทำไมต้องอยากรู้ ในเมื่อเขาก็เป็นผู้ใหญ่แล้ว มีการมีงานทำ สิ่งเหล่านี้แม้เป็นเรื่องเล็กน้อย แต่พอเกิดบ่อยๆเข้า มันก็ทำให้เขาหงุดหงิด จนพูดไม่ดีกับแม่ไปก็หลายครั้ง

พี่มาด ชายวัยกลางคนท่านหนึ่ง กล่าวขึ้นด้วยน้ำเสียงเศร้าว่า ”ผมเคยรู้สึกรำคาญเหมือนกัน แต่ตอนนี้ ตัวผมเองกลับคิดถึงคำถามเหล่านี้จากแม่ ในวันที่ท่านจากไป ก็ไม่มีเสียงคำถามเหล่านี้อีกแล้ว เมื่อผมกลับมาบ้าน ก็ไม่มีเสียงใครถาม ไม่มีใครห่วง ไม่มีใครใส่ใจ

ผมโหยหาข้าวสวยร้อนๆราดแกง ที่แม่มักจะเตรียมไว้ให้เสมอ ไม่ว่าผมจะกลับบ้านมากี่โมง ข้าวจานนั้น คือสัญลักษณ์แห่งความอบอุ่น การเติมเต็มจิตใจให้กับผม...”

คุณลุงเสม ก็สะท้อนความรู้สึกในใจออกมาเช่นกัน “ผมเองอายุห้าสิบกว่าแล้ว แม่ท่านก็ชรามาก ท่านก็ยังถามผมทุกครั้งที่ผมกลับบ้าน ว่ากินข้าวมาหรือยัง เดี๋ยวนี้ แม้ว่าผมจะกินมาแล้ว ผมก็จะบอกว่า ยังครับแม่ แล้วก็จะเห็นท่าน ลุกขึ้น รีบกุลีกุจอหาสำรับกับข้าวมาให้

ไม่ใช่ผมอยากให้ท่านเหนื่อย แต่ผมสังเกตเห็นว่า ท่านจะดีใจทุกครั้งที่ได้หาข้าวให้ผมทาน ท่านได้ลุกขึ้นจากโซฟา ได้ออกแรง ได้ทำงาน ได้รู้สึกมีคุณค่าที่ได้ดูแลผม ผมจึงนั่งลง ทานข้าวจานนั้นด้วยความอร่อย และกล่าวขอบคุณท่านที่ดูแลผมตลอดมา...”

เรื่องราวเหล่านี้ เป็นเพียงส่วนหนึ่ง ที่ถูกนำพาออกมาจากเพื่อนผู้ร่วมวง อย่างเป็นธรรมชาติ
ไดอะล็อคเป็นบทสนทนา ซื่อๆ ตรงๆ ที่มาจากใจ ปราศจากการเสแสร้งตกแต่งให้ดูดี ปราศจากการเค้นบังคับหรือถูกกดดัน แต่มาจากการเต็มใจที่จะแบ่งปัน มาจากความจริงแท้เบื้องลึกในจิตใจของแต่ละคน

เรื่องบางเรื่อง ที่เราพบเจอกันอยู่ในชีวิต เรื่องที่เรารำคาญ หรือหงุดหงิดใจ แต่พอถูกแบ่งปัน ได้แลกเปลี่ยน ก็เกิดการเรียนรู้ร่วมกัน แล้วก็กลับถูกเรียงร้อยออกมาใหม่ ได้เป็นเรื่องราวที่มีคุณค่า ที่ทุกคนต่างอิ่มเอิบใจ และได้รับความหมายบางอย่างกลับไป โดยที่ไม่ต้องมีข้อสรุปที่ตายตัว ไม่ได้มีการสอนสั่ง แต่ละคนเลือกหยิบคุณค่าที่ตนเห็นว่าเหมาะสม กลับไปใช้ในชีวิตของตนเองได้ทันที

เพื่อนร่วมวง ก็เหมือนเป็น “กระจกสะท้อนชีวิต” ที่ทำให้เราได้มองเห็นตัวเอง ในหลายๆแง่มุม แจ่มชัดมากยิ่งขึ้น

การมองเห็นจุดบอดจุดบกพร่องของตนเองได้สักครั้งเดียว ก็อาจทำให้มุมมองต่อชีวิตของเรา เปลี่ยนไปได้จากหน้ามือเป็นหลังมือเลยทีเดียว

วันอังคารที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2557

การฟังอย่างลึกซึ้ง (Deep Listening) ตอน 2

ต่อจากตอนที่แล้ว มาเรียนรู้เทคนิคการฝึกการฟังอย่างลึกซึ้ง ใน 2 ข้อสุดท้าย

3.การแยกแยะ
เมื่อมีความคิดใดๆเกิดขึ้นให้มองลงไปแล้วทำการแยกแยะ ที่ผ่านมาเมื่อฟังอะไรก็ตาม ในทันทีจะเกิดปฏิกิริยาโต้ตอบโดยอัตโนมัติ ซึ่งโดยมากก็มาจากความทรงจำเดิมๆของเรา ซึ่งมันบรรจุแบบแผนการตอบสนองเดิมๆไว้

เช่น พอได้ฟังเรื่องที่กระทบกระเทือนจิตใจ ก็จะรู้สึกน้อยใจ ไม่พอใจ หรือเสียใจในทันที เราจึงไม่ได้โอกาสที่จะมีการตอบสนองต่อการฟังในรูปแบบใหม่ๆเลย ดังนั้นในการฝึกการฟังให้สังเกตว่า “เรามีการตัดสินผู้คนและสิ่งต่างๆรอบตัวอยู่เสมอ”

ฟังเสียงในหัวที่เราพูดวิพากษ์วิจารณ์สิ่งต่างๆเหล่านั้น แล้วถามตัวเอง ด้วยการแยกแยะว่า สิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆคืออะไร สิ่งที่เราตีความไปด้วยตนเองคืออะไร ในที่สุดเรามีปฏิกิริยาตอบสนองไปอย่างไร “จงระลึกไว้ว่าสิ่งที่เป็นความจริงกับสิ่งที่เราตีความ มันแยกออกจากกันได้เสมอ

4.วางเฉยและช้าลง
ฝึกที่จะวางเฉย และช้าลงในการตอบโต้บทสนทนาอย่างทันทีให้ได้มากขึ้นเรื่อยๆ และนานขึ้นเรื่อยๆ เพื่อปรับเปลี่ยนระบบการโต้ตอบอัตโนมัติของร่างกาย

ที่ผ่านมา ในหลายๆครั้ง เรามักจะกลับมาเสียใจในสิ่งที่เราพูดหรือกระทำลงไปโดยไม่ทันยั้งคิด ดังนั้นให้ใช้การสนทนาและการตั้งคำถามกับตัวเอง เพื่อเป็นเครื่องมือในการทำให้เรารู้จักตนเองมากขึ้น มากกว่าจะไปสนใจว่าเราต้องตอบโต้อย่างไรเพื่อรักษาจุดยืนของเรา หรือแสดงความคิดเห็นในสิ่งที่เราเชื่อว่าถูก

อย่างไรก็ตาม  การฝึกทักษะการฟังในวงไดอะล็อคที่เรากำลังทำอยู่นี้ ถือเป็นเพียงสนามซ้อมเท่านั้น เราไม่จำเป็นต้องทำให้ทุกอย่างถูกต้อง ดีพร้อมหรือสมบูรณ์แบบ หากแต่เมื่อได้มีโอกาสฝึกฝนมากเท่าใด เราก็จะสามารถพัฒนาทักษะการฟังของเราได้มากขึ้นเท่านั้น

ประสบการณ์ที่ได้ในวงสนทนา นั่นก็คือการเรียนรู้นอกตำรา ที่ไม่สามารถจะนั่งอ่านจากหนังสือแล้วทำความเข้าใจได้ หากแต่เป็นปัญญาปฏิบัติที่จะได้จากการเผชิญหน้ากับเหตุการณ์จริงเท่านั้นและไม่ช้าไม่นานเราก็จะเห็นผลลัพธ์และความเปลี่ยนแปลงในตัวเองมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อนั้นเราก็จะสามารถรับฟังผู้คนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ปราศจากอคติใดๆ

ในตอนต่อๆไป จะได้แนะนำเทคนิคที่มีประโยชน์ในการฝึกไดอะล็อคที่นอกเหนือจากการฟัง ซึ่งจะได้รวมแบบฝึกหัดและตัวอย่างจากประสบการณ์จริงมาแลกเปลี่ยนกันต่อไป...


วันอังคารที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2557

การฟังอย่างลึกซึ้ง (Deep Listening) ตอน 1

การฟังในกระบวนการไดอะล็อคนั้น ไม่เหมือนการฟังในระดับปกติทั่วไปในชีวิตประจำวัน เพราะเราจะไม่ฟังเพียงแค่ระดับของคำพูดหรือความหมาย แต่จะโอบอุ้มและยอมรับทั้งอารมณ์ ความรู้สึก ท่าทางการแสดงออกทั้งหมดของผู้พูด เพื่อรับฟังสารนั้นอย่างเต็มเปี่ยม

การฟังอย่างลึกซึ้ง คือ “การฟังด้วยทั้งหมดของหัวใจ ประหนึ่งว่าโลกทั้งใบ ณ ขณะนั้น มีเขาอยู่ตรงหน้าเราเพียงคนเดียว”

โดยเราจะไม่ตีความ ตัดสิน ประเมินค่า หรือวินิจฉัยว่าถูกหรือผิด จะเป็นเพียงการฟังแบบล้วนๆ อยู่กับปัจจุบันขณะ เสมือนว่าหูเของเราเป็นอวัยวะเดียวที่รับสารนั้นอยู่ ไม่มีตัวตนของเราที่จะต้องต้านทาน ปกป้อง หรือต่อสู้กับความคิดเห็นใดๆแม้ว่าจะขัดแย้งหรือแตกต่างจากความคิดเรา
เราจะฟังอย่างปล่อยวางจากความรู้เดิมๆที่เรารู้หรือเรียนมา แม้กระทั่งความรู้จักว่าผู้พูดมีนิสัยอย่างไรการคาดคะเนในสิ่งที่จะตามมา ทั้งนี้เพื่อให้เป็นการฟังที่ปราศจากอคติและสมมติฐานที่เคลือบแฝงใดๆทั้งมวล
....
การฝึกทักษะในการฟังอย่างลึกซึ้ง (Deep Listening)
หลายคนคงเริ่มรู้สึกกังวลว่า การฟังแบบที่ว่านี้ ในทางปฏิบัติจะทำยากมาก แต่เราก็สามารถฝึกฝนพัฒนาทักษะนี้ได้โดยมีเทคนิคให้ลองปฏิบัติตามด้วยกัน 4 ข้อ ดังนี้
  1. รับรู้อาการทางกาย
ในขณะที่ฟัง ให้สังเกตความรู้สึกและสังเกตปฏิกิริยาของร่างกายไปด้วย โดยคอยตั้งคำถามเสมอๆ ว่าตอนนี้เรารู้สึกอย่างไรอยู่ ร่างกายของเรามีปฏิกิริยาตอบสนองกับคำพูดนั้นๆอย่างไร แค่ให้รู้สึกตัวแล้วก็ปล่อยไป จากนั้นก็กลับมาฟังต่อเทคนิคนี้จะทำให้เรากลับมาอยู่กับปัจจุบันขณะได้มากที่สุด และไม่พลาดสาระสำคัญใดๆไปเลย

  1. รับรู้อาการทางใจ
ยอมรับความรู้สึกและอารมณ์ในขณะนั้น เมื่อใดก็ตามที่มีใครพูดในสิ่งที่เราไม่ชอบใจ ไม่อยากได้ยิน หรือกระทั่งกดปุ่มให้เราจี๊ดขึ้นมา สังเกตว่า หูจะปิด จะไม่ได้ยินเสียงพูดของเค้าแล้ว จะมีแต่เสียงโวยวายในหัวมากลบทับ เราจะอยากโต้ตอบหรือขัดแย้งขึ้นมาทันที บางทีอาจถึงขนาดอยากลุกขึ้นไปบีบคอ หรือลุกเดินหนีไปก็มี

เมื่อถึงจุดนี้ให้ติดตามความอึดอัดขัดเคืองใจที่เกิดขึ้นนั้นไป แล้วมองลึกเข้าไปให้ถึงที่มาของอารมณ์ในขณะนั้น เริ่มตั้งคำถามกับตนเองว่า อะไรคือสิ่งที่เราไม่ชอบ อะไรที่ขัดกับคุณค่าในใจของเรา มันทำให้เรารู้สึกอย่างไร

ให้ยอมรับในความรู้สึกนั้น แล้วจงเผชิญหน้ากับความแตกต่าง ด้วยการบอกกับตนเองว่า เราจะค้นหาสาเหตุของความไม่พอใจนี้ว่ามีที่มาจากอะไร เพื่อพัฒนาทักษะการฟังของเราให้สามารถฟังต่อไปได้ทั้งหมดโดยไม่มีเงื่อนไข


มีเทคนิคอีก 2 ข้อ โปรดติดตามต่อในตอนหน้าครับ


วันอังคารที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2557

ทฤษฎีการฟัง 3 ระดับ

หลังจากที่เรามาฝึกไดอะล็อคขั้นเริ่มต้นแล้ว เราสามารถคาดหวังว่า จะนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ หรือจะนำไปประยุกต์ใช้ได้อย่างไรบ้างในอนาคต ซึ่งก่อนอื่นเราควรจะรู้ว่าการฟังในกระบวนการไดอะล็อค แบ่งเป็น 3 ระดับด้วยกัน

การฟังระดับ 1: การฟังเสียงภายใน

ไม่ว่าจะอยู่คนเดียว หรือสนทนากับผู้อื่น เราใช้การฟังระดับนี้ ในการกลับมาดูใจตนเอง ฝึกฟังอารมณ์ ฟังความรู้สึกตนเอง ซึ่งจะทำให้เราสามารถมองเห็นตัวเองชัดเจนขึ้น ได้เข้าใจ และยอมรับตัวเองมากขึ้น เห็นการตัดสินหรือตีความอย่างอัตโนมัติ ที่ทำให้เกิดความโกรธ ความเศร้า เกิดอารมณ์ด้านลบ ชัดเจนขึ้น บ่อยขึ้น

แม้หลายคนจะรู้สึกแย่กับตัวเอง แต่นี่คือหนทางแรก ที่จะทำให้เราได้เห็นตัวเองและเป็นมนุษย์ที่แท้ ยอมรับในความไม่สมบูรณ์แบบของตัวเองได้ และเป็นช่องทางที่จะทำให้เราได้พัฒนาตนเองต่อไป

ประโยชน์ เมื่อฝึกได้บ่อยๆ เราจะเริ่มมี Self Awareness หรือ ความรู้สึกตัว มากขึ้น จะเริ่มช้าลงในการตัดสิน ช้าลงในการตอบโต้ มีสติตอบสนองต่อเหตุการณ์ได้เหมาะสมมากกว่า นับว่าเป็นการพัฒนาเปลี่ยนแปลงตัวเองในด้าน EQ หรือวุฒิภาวะขั้นสูง และเป็นการภาวนา หรือการพัฒนาตัวตนด้านในอย่างหนึ่ง         
................
การฟังระดับ 2: การฟังอย่างลึกซึ้ง

เมื่อมีคู่สนทนา สามารถนำไปใช้ได้ในทุกสถานการณ์ในการพูดคุย ตัวเราจะเป็นเพียงพื้นที่แห่งการรับฟัง เป็นพื้นที่ปลอดภัยให้เขาพูด

การฟังอย่างลึกซึ้ง คือการฟังไปมากกว่าถ้อยคำ ฟังถึงอวจภาษา อันรวมไปถึง ท่าทาง อารมณ์ ความรู้สึกทั้งหมด ฟังแม้ในสิ่งที่เขาไม่ได้พูดด้วย เราสามารถฝึกทักษะการฟังระดับ โดยการตั้งวงไดอะล็อคที่บ้าน หรือกับกลุ่มเพื่อนๆ

ประโยชน์ ก่อให้เกิดบรรยากาศการพูดคุยที่ผ่อนคลาย มีเวลาคุณภาพต่อกัน ทำให้ความสัมพันธ์ดีขึ้น เป็นกัลยาณมิตร ร่วมเดินทางเรียนรู้ ส่งเสริม ดูแลซึ่งกันและกันเป็นกลุ่มสังฆะ นั่นเป็นสิ่งที่สำคัญในการเดินทางสายจิตวิญญาณ หรือการเดินทางด้านใน
..................
การฟังระดับ 3: การฟังระดับสนามพลัง

เราจะเป็นผู้นำวง (Facilitator) ที่ดีได้ ต้องฝึกที่จะละวางอัตตา ความเชื่อ ความคิดเห็นส่วนตัว เหลือเพียงเป็นพื้นที่แห่งการรับฟัง รับฟังได้ทั้งคำพูดที่คนสื่อสาร และสิ่งที่ไม่ได้สื่อสารออกมา
จนสามารถได้ยินสนามพลังงานของความคิดของผู้คนทั้งหลาย ที่ไหลเวียนอยู่ในวงไดอะล็อคได้

ผู้นำวงที่มีประสบการณ์สูง จะสามารถโอบอุ้มและนำพาวงให้เกิดความสมดุล ผ่อนคลาย และมี Being หรือ สภาวะ ที่ทำให้วงไหลลื่น ไม่ติดขัด ด้วยการดูแลวาระของผู้คนได้อย่างเท่าเทียม ไม่ให้เกิดการพูดจนกินพื้นที่กัน ขณะเดียวกันก็มีศิลปะที่จะไม่ควบคุม จัดการ หรือแทรงแซงวง จนเกินความจำเป็น


ฝึกทักษะการฟังระดับ โดยการตั้งวงไดอะล็อคในที่ทำงาน ในชุมชน และสังคมใกล้ตัว
ประโยชน์ ทำให้เกิดการหันหน้าเข้าหากัน เกิดการเกี่ยวดองทางจิตใจ เกิดภาวะพึ่งพาอาศัย มีมิตรภาพต่อกัน ลดความขัดแย้ง ทำให้ประสานงานทำงานเป็นทีมได้ดี สามารถระดมความคิดสร้างสรรค์ ก่อให้เกิดกระบวนการจัดการความรู้ เกิดองค์กรมีชีวิตและเป็นองค์กรจัดการตัวเอง