วันอังคารที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2557

ไดอะล็อคกับองค์กรแห่งการเรียนรู้

กูรูด้านการจัดการความรู้ (Knowledge Management: KM) หลายท่าน กล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า กระบวนการไดอะล็อค (Dialogue) สามารถเปลี่ยนแปลงให้องค์กรเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ (Learning Organization: LO) และสามารถสร้างวัฒนธรรมใหม่ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของผู้คนในองค์ได้เป็นอย่างดี ในตอนนี้จะขยายความว่า ทำได้อย่างไร

หากไดอะล็อคสามารถทำได้อย่างครบกระบวนการ จะเกิด 4 สภาวะนี้เป็นลำดับไป

ขั้นแรก: ทดลองหยั่งเชิง

เมื่อเริ่มแรกในการเข้ามานั่งล้อมวงพูดคุยกันแบบไดอะล็อคนั้น สมาชิกแต่ละคนอาจแสดงความคิดเห็น ความสนใจในประเด็นต่างๆไปตามที่ตนถนัด ในกลุ่มนั้นก็เปรียบได้กับสังคมเล็กๆ ที่มีหลากหลายความคิด หาได้มีความเชื่อมโยงเกี่ยวเนื่องกันไม่

หากมองในระยะสั้น จะมีแต่ความคิดและคำพูดที่ดูกระจัดกระจายไปคนละทิศคนละทาง อาจดูว่าจับสาระหาประเด็นอะไรไม่ได้ แต่นั่นก็คือขั้นตอนต้นๆของการแสดงความเป็นตัวเองออกมา แสดงถึงความมีอยู่ ความจริงแท้ของตัวตนแต่ละคน

ในช่วงแรกๆนี้แต่ละคนก็อาจยังไม่ไว้ใจ ไม่สนิทใจกันนัก ความระมัดระวังในคำพูดจึงยังมีสูง และไม่สามารถจะหาทิศทางใดๆได้ อาจจะดูน่าอึดอัดสำหรับบางคน แต่ “การทดลองหยั่งเชิง” นี้ หากผ่านไปได้ด้วยดี ก็เป็นขั้นตอนที่สำคัญในระยะเริ่มต้นที่จะเป็นต้นเหตุในการจุดประกายทางความคิดในระยะต่อไป

ขั้นที่สอง: ไหลลื่นทางความคิด

หากได้ดำเนินวงเป็นระยะเวลาหนึ่ง แต่ละคนรู้จักคุ้นเคยกับการห้อยแขวนคำตัดสินแล้ว สิ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือ การไหลเวียนที่ไม่สะดุดทางความคิด เราจะพบว่าเมื่อเกิดความสนใจร่วมกันในประเด็นใดประเด็นหนึ่งขึ้นมา โดยคนหนึ่งอาจเริ่มยกประเด็นนี้ขึ้นมา แล้วอีกคนก็สนใจเสริมต่อ ตามด้วยอีกคน และอีกคน
เมื่อไม่มีการตัดสิน วิพากษ์วิจารณ์ สอดแทรกหรือเบรกกัน ก็จะกลายเป็นบรรยากาศที่เหมาะต่อการแตกแขนงทางความคิด และการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆต่อยอดจากความคิดเดิม เป็นกระแสของความคิดที่ไหลเวียนอยู่ในกลุ่ม

เราจะพบว่าในขั้นนี้ การสนทนาจะไม่มีการโน้มน้าวให้เชื่อ ไม่มีการชักจูงหรือต่อรองใดๆ ไม่ต้องมีคำหวานหูหรือการเสแสร้งเอาใจกัน มีแต่ความจริงแท้ต่อกันและการไหลวนทางความคิดที่เสริมและต่อเนื่อง เป็นบรรยากาศที่หาไม่ได้ในวงสนทนาใดๆ

ขั้นที่สาม: เกิดความคิดเห็นร่วม

เมื่อกลุ่มมีเป้าหมายร่วมกันแล้วเช่นนี้ ในที่สุดจะเกิดความคิดเห็นร่วมออกมา และเห็นเป็นความจำเป็นบางอย่างที่สามารถขับเคลื่อนให้แต่ละคนทำอะไรบางอย่างร่วมกันได้
แม้ว่าบางคนอาจจะมีส่วนร่วมมาก บางคนอาจจะมีส่วนร่วมน้อย อย่างไรก็ตาม แต่ละคนมีความสบายใจที่จะมีส่วนร่วมตามความต้องการของตน และไม่มีใครเป็นผู้นำหรือผู้ตาม ไม่มีใครสั่งใคร มีแต่ความเข้าใจและมองภาพไปในทิศทางเดียวกัน เป็นการส่งเสริมและต่อเติมซึ่งกันและกัน 

ดังนี้ วงไดอะล็อคก็จะถือเป็นการหาความหมายร่วมกัน ซึ่งหากองค์กรใดหรือสังคมใดมีบรรยากาศแบบนี้ ก็จะมีประสิทธิภาพในการดำเนินกิจการร่วมกันอย่างมาก

ขั้นที่สี่: เกิดองค์กรจัดการตัวเอง

จริงอยู่ว่า ในคนหมู่มาก เป็นไปไม่ได้ที่ประเด็นในรายละเอียด จะต่างเห็นพ้องต้องกันทั้งหมด แต่ในเมื่อทุกคนไม่พยายามเอาความคิดเห็นของตนเป็นที่ตั้ง หากแต่มองในภาพรวมหรือประโยชน์ของกลุ่มมากกว่า ทำให้สามารถละวางความคิดเห็นส่วนตัวของตน เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายที่ใหญ่กว่าร่วมกัน การโต้เถียงจึงไม่เกิดขึ้น มีแต่การรับฟังกันและช่วยกันอุดข้อบกพร่องหรือจุดอ่อน และเสริมให้จุดแข็งมีความสมบูรณ์มากขึ้น

เมื่อความคิดส่วนตัวและความคิดของกลุ่ม สอดคล้องกลมกลืนกันไปในทิศทางเดียว การอาศัยอยู่ในกลุ่มจึงเป็นความอบอุ่นปลอดภัย เป็นการนำพากันไปในความสนใจและเป้าหมายร่วมกัน เต็มใจทำสิ่งที่ตนเลือกเองอย่างสมัครใจและกระตือรือล้นเกิดสภาวะของ “องค์กรจัดการตัวเอง” แต่ละคนออกไปทำงานด้วยแรงบันดาลใจ โดยที่ไม่ต้องสั่ง ไม่ต้องเคี่ยวเข็ญ และไม่ต้องโน้มน้าวปลุกพลังแต่อย่างใด

พร้อมกันนั้น กลุ่มก็ยังมีการแลกเปลี่ยนพูดคุยกันอย่างต่อเนื่อง ทำให้แม้ภาพสถานการณ์รอบนอกแปรเปลี่ยนไป กลุ่มก็จะสามารถปรับตัวรับสถานการณ์นั้นได้อย่างทันท่วงที เพราะสมาชิกในกลุ่มเปิดกว้างรับข้อมูลใหม่ๆ และปรับตัวไปตามทิศทางเดียวกันได้อย่างกลมกลืนและรวดเร็ว
...........................

“องค์กรแห่งการเรียนรู้” (Learning Organization)

นี่คือวัฒนธรรมองค์กรที่เราต้องการให้มี เพื่อมุ่งสู่การเป็น “องค์กรแห่งการเรียนรู้ “ส่วนองค์กรที่ขับเคลื่อนช้าหรือล้าหลังนั้น จริงๆมิใช่เพราะองค์กรใหญ่อุ้ยอ้ายอย่างที่เคยเข้าใจ แต่เป็นเพราะการไหลเวียนของการสื่อสารขององค์กรติดขัด ไม่ใช่ทางเทคนิค แต่เป็นการขาดการสื่อสารซึ่งกันและกัน และการมีความคิดเห็นที่ขัดแย้งไม่ลงรอยกันในองค์กรเอง ขัดแข้งขัดขากันเอง เบรกกันเอง นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นของความล้มเหลวในองค์กร

ดังนั้น ไดอะล็อคจึงเป็นเครื่องมือที่สำคัญ ในการอยู่รอดของสังคมในยุคสมัยหน้า เมื่อสังคมมีความซับซ้อนและใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ผนวกด้วยความขัดสนทางทรัพยากรและความยากเข็ญจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ เราจะอยู่รอดกันได้อย่างไรหากไม่รู้จักวิธีในการหันหน้าเข้าหากัน

ไดอะล็อคสามารถปรับใช้ได้ทั้งในระดับคนต่อคน กลุ่มคน หรือกระทั่งระดับสังคมก็ตาม หากได้มีการนำไปใช้อย่างกว้างขวาง ย่อมจะสร้างค่านิยมแห่งการ “ค้นหาความหมายร่วม” มากกว่าใครชนะ ใครแพ้
สร้างการประสานความร่วมมือกัน มากกว่า ใครดี ใครได้
ค้นหาความสอดคล้องกัน มากกว่า ใครผิด ใครถูก

การสร้างสรรค์วัฒนธรรมใหม่ของสังคมที่มีแต่สันติภาพและความสร้างสรรค์ เริ่มด้วยการใช้ไดอะล็อคเพื่อสร้างวิถีใหม่ในการสนทนานั่นเอง
............................

โดย “เรือรบ” ปรับปรุงจากบทความวารสารกายใจ หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ เมื่อ ส.ค.55


วันจันทร์ที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2557

หัวใจแห่งไดอะล็อค

ในแวดวงธุรกิจ คงไม่มีใครไม่รู้จัก ดร. ปีเตอร์ เซงเก จาก MIT มหาวิทยาลัยอันดับหนึ่งของอเมริกา ผู้เขียนหนังสือ “The Fifth Discipline (2006)” ที่โด่งดังและติดอันดับขายดีตลอดกาล

เขาได้แนะนำให้ทุกองค์กรนำกระบวนการไดอะล็อคมาเป็นเครื่องมือสำคัญ ที่ใช้ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกันในทีมงาน สร้างพื้นฐานวินัยที่ห้า นั่นก็คือ การเรียนรู้ร่วมกันเป็นทีม (Team Learning) ซึ่งเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุด และเป็นพื้นฐานในการขับเคลื่อนเพื่อสร้างให้องค์กรนั้นเป็น “องค์กรแห่งการเรียนรู้” (Learning Organization)

ดร. เซงเก้ ได้เปรียบเทียบไว้ว่า หัวใจของการเล่นดนตรีนั้น ไม่ได้สำคัญว่านักดนตรีแต่ละคนจะเก่งกาจหรือชำนาญสักแค่ไหน แต่สำคัญว่า คนเหล่านั้นสามารถที่จะเล่นร่วมกันเป็นวงได้อย่างกลมกลืนเหมาะเจาะและไพเราะเพียงไร

ดังนั้นการมีไดอะล็อคในองค์กร ก็จะเป็นการเปิดพื้นที่ให้คนเก่งๆ ทั้งหลายที่เคยต่างคนต่างเก่ง กลับมาทำงานร่วมกันได้นั่นเอง

เพื่อให้ความเข้าใจของกระบวนการไดอะล็อคนั้นลึกซึ้งยิ่งขึ้น เราควรจะได้ทราบถึงหัวใจของการทำไดอะล็อค ซึ่งนำเสนอโดย ดร.วิลเลียม ไอแซคส์ อาจารย์จากมหาวิทยาลัย MIT ผู้เขียนหนังสือ Dialogue and The Art of Thinking Together (1999)

ในหนังสืออธิบายว่า เนื่องจากไดอะล็อคเป็นกระบวนการกลุ่มที่มีพลวัตและแปรเปลี่ยนไปตามธรรมชาติตามสมาชิกผู้ร่วมวง จึงไม่มีกติกาในการไดอะล็อคที่เป็นหลักการตายตัว

สมาชิกในกลุ่มเพียงแต่ร่วมกันตั้งกฎพื้นฐานคร่าวๆในการพูดคุยแต่ละครั้ง ด้วยการสร้างพื้นที่เฉพาะในการสนทนาด้วยพื้นฐาน 4 ประการ ที่ในกลุ่มมักจะตกลงร่วมกัน ได้ดังนี้

1.สงบ สบาย ด้วยการปิดโทรศัพท์มือถือ หากต้องการคุยโทรศัพท์ให้คุยนอกวง สร้างบรรยากาศที่ผ่อนคลายด้วยการนั่งลงกับพื้น ล้อมวงเป็นวงกลม เพื่อเป็นสัญลักษณ์ว่า ณ ที่แห่งนี้ ทุกคนต่างเท่าเทียมกัน ไร้ซึ่งสถานะที่สูงต่ำ ไม่มีผู้นำและผู้ตาม

2.ปลอดภัย ไว้วางใจ ด้วยการพูดทีละคน คนที่เหลือรับฟังอย่างตั้งใจ ไม่พูดแทรกกัน ฝึกการฟังอย่างลึกซึ้งโดย เข้าให้ถึงอารมณ์ ความรู้สึก คุณค่าภายในจิตใจที่ผู้พูดอาจไม่ได้พูดออกมา ละวางสมมติฐาน ความเชื่อ ความเห็นหรือวาระซ่อนเร้นไว้ก่อน เปิดใจรับฟังด้วยการห้อยแขวนการตีความและการตัดสินถูกผิดไว้ แล้วฟังจนจบ รักษาความลับของเพื่อนในวง ไม่นำออกไปพูดนอกวง

3.เคารพ เท่าเทียม เมื่อต้องพูดถึงประเด็นปัญหา ให้เน้นที่ตัวปัญหา ไม่พาดพิงถึงบุคคลที่สามที่ไม่อยู่ในวง เคารพในพื้นที่ของผู้อื่นโดยไม่ผูกขาดการพูดไว้คนเดียว ไม่ยัดเยียดความรู้หรือสั่งสอนกัน ไม่โน้มน้าวให้เชื่อ หรือไม่ฟันธงว่าความคิดตนเองนั้นถูกต้องหรือเป็นคำตอบสุดท้าย

4.สร้างสรรค์ ยอมรับในความเห็นต่าง ไม่รีบร้อนหาข้อสรุปยุติ ให้โยนคำถามและความคิดเห็นไว้กลางวง แล้วปล่อยให้ความไม่รู้นำพาไปสู่ความไม่แน่นอน เปิดพื้นที่สำหรับการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน เน้นการรับฟัง และปล่อยให้วงเงียบได้ในบางจังหวะ เพื่อการใคร่ครวญภายใน

ด้วยกติกาพื้นฐานดังนี้ ทำให้การสนทนาในวงไดอะล็อค มีพลังในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างน่าเหลือเชื่อ เพราะสมาชิกในวงสามารถนำพาเรื่องราวที่ลึกซึ้งออกมาแลกเปลี่ยนกัน อย่างรู้สึกปลอดภัยไม่โดนตัดสิน 

กระบวนการนี้จึงสร้างพลวัตในการเปลี่ยนแปลงการทำงานให้สอดคล้องและมีประสิทธิภาพได้ เพราะผู้คนจะถูกฝึกทักษะในสื่อสาร ด้วยการรับฟังซึ่งกันและกัน พร้อมที่จะเปิดใจและเข้าใจกันนั่นเอง




ความหมายของไดอะล็อค (2)

ในหนังสือ On Dialogue (2004) ของ David Bohm ได้อธิบายความหมายของรากศัพท์ดั้งเดิมของ Dialogue ว่ามาจากภาษากรีกโบราณสองคำ 

คำแรก คือ Dia = Through แปลว่า การทะลุทะลวง
และอีกคำคือ Logos = Meaning of the word แปลว่า ความหมายของคำที่พูดออกไป

ซึ่งในความหมายใหม่ของคำว่า ‘Dialogue’ มิใช่เพียงแค่ การเข้าใจความหมายของคำที่พูดออกมาแบบทะลุทะลวง แต่เป็น Stream of meaning หรือ “กระแสธารของความหมาย” อันเป็นคุณค่าและองค์ความรู้ที่สามารถไหลเลื่อนเคลื่อนที่ ถ่ายเทไปหากันได้ โดยปราศจากการปิดกั้น (Blocking) ของสิ่งสมมติใดๆที่คนเรามักสร้างขึ้นมา ไม่ว่าจากความเชื่อ ความยึดถือต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นทั้ง วัยวุฒิ คุณวุฒิ อำนาจ ยศถาบรรดาศักดิ์ หรือตำแหน่งหน้าที่ใดๆ ซึ่งต่างก็เป็นสิ่งสมมติที่สร้างให้เกิดความเหลื่อมล้ำและความขัดแย้งกันทางความคิดทั้งสิ้น

การสนทนาแบบไดอะล็อคนั้น อยู่คู่กับสังคมมนุษย์ในชีวิตประจำวันมานานแล้ว เราอาจพอจะนึกภาพการล้อมวงรอบกองไฟของชนเผ่าในแอฟริกา หรือการล้อมวงพูดคุยกันหลังรับประทานอาหารของครอบครัวตามชนบทของไทยในอดีต

แต่ในปัจจุบันเมื่อแต่ละบ้านมีเทคโนโลยีเข้ามาในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็น โทรทัศน์ คอมพิวเตอร์ Laptop Tablet Smartphone สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ ทำให้เกิดสภาวะที่ต่างคนก็ต่างมีโลกส่วนตัวของตนเอง
 
พอตกเย็นก็เข้าห้องไปหาความบันเทิงส่วนตัว การพูดคุยกันในบ้านจึงน้อยลง การสนทนาที่น้อยลงจึงเป็นบ่อเกิดของความขัดแย้งและความไม่เข้าใจกันในครอบครัว ส่งผลถึงการขาดทักษะในการฟังและการสื่อสารของสมาชิกในครอบครัวด้วย

เมื่อครอบครัวห่างเหินกัน ดังนั้นคนในสังคมเราจึงแปลกแยกกันมากขึ้น ไม่แปลกที่เรามีความความเห็นไม่ตรงกันในเรื่องเพียงเล็กน้อย แต่แล้วก็เกิดเป็นความบาดหมางไม่เข้าใจกัน และกลายเป็นศัตรูกันในที่สุด

จุดเริ่มต้นของความแตกแยกกันในสังคม ก็คือความอ่อนแอของสถาบันครอบครัว และก็มาจากการขาดทักษะการฟังและการสื่อสารกันระหว่างบุคคลนั่นเอง โบห์ม คาดหวังไว้ว่า ในโลกยุคหน้า ไดอะล็อคจะเป็นหนึ่งในกระบวนการที่สร้างสรรค์สันติสุข ให้กับมนุษยชาติในอนาคตเลยทีเดียว

สำหรับในประเทศไทย องค์กรที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง อาทิ เครือปูนซีเมนต์ไทย เครือเจริญโภคภัณฑ์ ก็ได้นำกระบวนการไดอะล็อคมาแนะนำ และอบรมให้กับพนักงานอย่างต่อเนื่อง
โดยกำหนดให้กระบวนการนี้ มาใช้เป็นเครื่องมือสำคัญในการจัดการความรู้ ส่งเสริมให้เกิดการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ จากการคิดร่วมกัน จึงเห็นได้ว่ากระบวนการนี้กำลังได้รับความสนใจ และมีแนวโน้มว่าจะถูกนำไปใช้อย่างกว้างขวางในทุกวงการในอนาคต



วันอาทิตย์ที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2557

ความหมายของไดอะล็อค (1)

Dialogue ถูกนำเสนอเป็นทางการครั้งแรกโดย David Bohm(1927-1992) นักวิทยาศาสตร์สาขาควอนตั้มฟิสิกส์ชาวอังกฤษเชื้อสายอเมริกัน เขาเป็นทั้งนักจิตวิทยาและนักปรัชญา เป็นลูกศิษย์คนสำคัญคนหนึ่งของอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ 


ในวิชาชีพของเขา โบห์มนั้นตระหนักอยู่เสมอว่า เหล่านักวิทยาศาสตร์ ผู้ฉลาดปราดเปรื่องทั้งหลายในโลก เมื่อต้องมาประชุมหารือร่วมกันแล้ว โดยมากมักจะเกิดความขัดแย้งที่ไม่อาจหาข้อยุติหรือมติเอกฉันท์ได้ 

สาเหตุหนึ่งก็คือ ความเห็นที่ว่าความคิดตนนั้นถูกเสมอ จึงไม่ได้เปิดใจรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่าง แต่ละคนต่างคอยจะจับผิดและหาข้อโต้แย้งเพื่อทำลายทฤษฎีของอีกฝ่าย 

ซึ่งในภาวะแบบนี้ นอกจากจะก่อให้เกิดความขัดแย้งด้วยการถกเถียงกันแล้ว ยังจะไม่เอื้อต่อพื้นที่แห่งการเรียนรู้ร่วมกัน ไม่เกิดการผลิตความคิดสร้างสรรค์ และการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ด้วยเหตุนี้ โบห์มจึงเสนอ กระบวนการสนทนาแบบกลุ่มซึ่งเน้นการรับฟังอย่างเปิดใจ ซึ่งเรียกว่า “ไดอะล็อค” 

ในการที่จะเข้าใจความหมายของไดอะล็อคได้นั้น ต้องสามารถแยกแยะได้ก่อนว่า กระบวนการใด ไม่ใช่ไดอะล็อค 

ไดอะล็อคไม่ใช่การเสนอความคืดเห็น ไม่ใช่การอภิปราย ไม่ใช่การวิพากษ์วิจารณ์ ไม่ใช่การวินิจฉัยเพื่อประเมินความเป็นไปได้ ไม่ใช่การประชุมที่มีคำตอบล่วงหน้า ไม่ใช่การพยายามโน้มน้าว หรือการนำเสนอให้ใครคล้อยตาม ไม่ใช่การสอนสั่ง พิสูจน์ว่าใครถูกหรือผิด

ซึ่งที่กล่าวมา กิจกรรมเหล่านั้น ก็เปรียบเสมือนกับเราเล่นตีปิงปอง โดยที่ต่างฝ่ายต่างโยนความคิดเห็นของตนใส่กันแล้วตีตอบโต้กันไปมา 

แม้ว่าเรามักจะใช้การสนทนารูปแบบเหล่านี้อยู่ในชีวิตประจำวัน แล้วมันก็ให้คุณค่าพอสมควร แต่กระบวนการไดอะล็อคนั้น จะพาเราลงลึกเข้าไปในความคิดและจิตใจของแต่ละคน 

เน้นให้เราฝึกการห้อยแขวน คำตัดสิน คำวิพากษ์วิจารณ์ของเราไว้ก่อน แล้วให้ “ฟัง” อย่างเปิดใจ โดยไม่ขัดและไม่พูดแทรก จนกว่าผู้พูดจะแสดงความคิดเห็นของเขาจนจบ 

กติกาพื้นฐานนี้เองทำให้การพูดคุยในวงไดอะล็อคเป็นไปอย่างลื่นไหล ไม่ก่อให้เกิดการขัดแย้งแย่งกันพูด ไม่ต้องปกป้องตนเอง ไม่ต้องถกเถียงทะเลาะกันอย่างในบทสนทนาหรือการประชุมทั่วไปๆ


ความหมายของไดอะล็อค มีความลึกซึ้งในทางภาษาและทางความหมาย ซึ่งจะขอขยายต่อในตอนหน้า