นั่นเป็นเพราะว่า สิ่งที่ได้เรียนรู้นั้น ไม่ใช่สิ่งที่เราคิดคาดหวัง หรือมองหาอยู่ เป็นสิ่งที่เหนือไปกว่าความต้องการของเรา ที่ได้จากการสนทนาทั่วไป เป็นสิ่งใหม่ที่เราไม่เคยได้เห็นมาก่อน นั่นก็คือการเห็น “กระบวนการทางความคิดของตนเอง”
คนที่ปกติแล้วเป็นคนพูดเยอะ ก็จะเริ่มรู้สึกถึงความน่าอึดอัดในวง แล้วก็จะมองย้อมเข้ามาหาตัวเอง และเห็นว่าตนเองเป็นต้นเหตุ แล้วจะเกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ด้วยการเปิดพื้นที่ให้คนอื่นมากขึ้น เปลี่ยนบทบาทเป็นผู้รับฟังที่ดีมากยิ่งขึ้น
คนที่โดยปกติ เป็นคนพูดน้อย คนที่รู้สึกว่าคิดช้าคิดนาน ก็จะเห็นความอึดอัดคับข้องใจของตน ค้นไปเจอสาเหตุที่มาของมัน นั่นก็คือความกังวลใจ ความกลัว ความไม่มั่นใจ แล้วก็จะเริ่มปล่อยวาง ก้าวข้ามพฤติกรรมอันเดิมๆของตน เริ่มมีปากเสียง กล้าพูดมากขึ้น และรู้จักจังหวะในการเริ่มต้นมากขึ้น
คนที่เห็นว่าตนเองไม่ค่อยพูด เป็นเพราะให้ความสำคัญกับตัวเองมากเกินไป ทำให้กลัวไปหมด กลัวผิด กลัวดูไม่ดี หากเมื่อลดความสนใจเกี่ยวกับตัวเอง หันไปมุ่งให้ความสนใจด้วยการฟังอย่างลึกซึ้งกับคนที่พูดแทน แล้วก็จะเริ่มสนุกกับการพูดคุยที่เป็นปัจจุบันมากขึ้น ตื่นเต้นกับความโลดโผนในหัวข้อการพูดคุยที่หลากหลายมากขึ้น
คนที่คอยมองหาสาระในการพูดคุย จะเริ่มเห็นว่าตนเองมีความคาดหวัง มีจุดมุ่งหมายในการพูดคุย ซึ่งนั่นไม่ใช่หัวใจของไดอะล็อค พอมองตัวเองออก ก็จะเริ่มปล่อยวางความยึดติดใน “ความมีสาระ”แล้วมองเห็นทุกสิ่งรอบตัว “เป็นการเรียนรู้”รวมถึงจะได้รู้จักตัวเองมากขึ้นในหลายๆแง่ จากปฏิกริยาโต้ตอบของตนเองที่มีออกไป ในขณะที่อยู่ในวงสนทนา
ในที่สุด กลุ่มที่มีการผูกขาดการพูดเพียงไม่กี่คน พอดำเนินไปได้สักระยะ ก็จะมีความไว้ใจกัน รู้สึกปลอดภัยต่อกันมากขึ้น จะเริ่มให้ความเท่าเทียมต่อกัน มีการปรับสมดุล แบ่งสรรเวลาให้ทุกคนได้พูดในปริมาณที่พอๆกัน
นั่นเป็นเพราะทุกคนลดความสำคัญของการ “รู้เรื่องข้างนอกตัว” และไปให้ความสำคัญกับการ “รู้จักเรื่องข้างในตัวเอง” ซึ่งจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้มากกว่า
ในวงไดอะล็อคระดับนี้ การสนทนากัน จึงไม่มีการโน้มน้าวใคร ไม่พยายามเปลี่ยนความคิดใคร หรือโต้แย้งกับใคร แต่ละคนเพียงดำรงอยู่และเป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้ให้แก่กันและกัน พูดออกไปโดยไม่บังคับให้ใครเชื่อ ฟังอย่างตั้งใจแล้วก็ใคร่ครวญโดยไม่ด่วนตัดสิน
ปล่อยให้เกิดการไหลเวียนของการแลกเปลี่ยนความเห็นอย่างเป็นกันเองและเปิดกว้าง มีสติสำนึกรู้ตัว ไม่ปล่อยให้บล็อคหรือความยึดติดในความเห็นของตัวเอง มาหยุดยั้งการรับรู้และการเรียนรู้ของตน
นี่คือภาวะที่เราหลุดออกมาจากอดีตอันคับแคบที่มีเพียงแต่ตัวเอง หลุดออกมาจากกรอบความคุ้นชินอันจำกัด มาสู่พื้นที่ใหม่ที่ใหญ่และกว้างกว่าเดิมมาก ส่งใจให้รู้สึกสบายและเบา เป็นสภาวะที่เอื้อให้เกิดการเรียนรู้และเกิดความคิดสร้างสรรค์ เกิดการพูดคุยที่สมานฉันท์และมีมิตรภาพ เป็นสภาวะที่คำนึงถึง “องค์รวม และประโยชน์ของผู้อื่น”
ด้วยข้อจำกัดที่มีของไดอะล็อค ที่ทำให้เกิดความยากในการฝึกฝน แต่หากเรายอมเข้ามาฝึกสักพัก จนได้เข้าถึงความเป็นไปของกระบวนการนี้แล้ว ย่อมทำให้เกิดการปฏิรูปทางกระบวนความคิด หรือเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์ ให้เป็นสภาวะแห่งจิตสำนึกใหม่ได้ในที่สุด
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น