วันศุกร์ที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2557

ไดอะล็อค: บริหารงานได้ผล คนเป็นสุข

คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ทักษะสำคัญอย่างหนึ่งในการเป็นผู้บริหารองค์กร คือ “การฟัง”

หากแต่มีปัจจัยหลายอย่าง ที่ทำให้ประสิทธิภาพการฟังของผู้บริหารลดลง อาจเป็นด้วยเวลาจำกัดและภาระงานที่มาก หรืออาจะเป็นประสบการณ์ ความรู้ ความอาวุโส ทำให้พอฟังยังไม่ทันจบก็รีบตัดบท เพราะคิดว่า “รู้อยู่แล้ว“

ดังนั้นดูเหมือน ยิ่งอาวุโสมาก มิติการฟังยิ่งลดลง เป็นสัดส่วนผกผันกันไป

และคงปฏิเสธไม่ได้อีกว่า ในองค์กรมีการฝึกทักษะการทำงาน การพูด และทักษะอื่นๆอีกมากมาย แต่สำหรับทักษะการฟังนั้น ผู้บริหารองค์กรส่วนใหญ่ ไม่ได้ให้ความสนใจเท่าที่ควร เรื่องการฟัง ไม่เห็นความจำเป็นต้องฝึกเลย

ผลกระทบที่พบได้ คงจะไม่พ้นเรื่องของ “คน” ปัญหาใหญ่ๆมักจะเริ่มด้วยสาเหตุเล็กๆ เช่น การสื่อสารที่ไม่สมบูรณ์ทำให้เกิดความเข้าใจผิด แล้วกลายเป็นความขัดแย้งกันระหว่างกันในการทำงาน ก่อตัวเป็นความสัมพันธ์ที่ไม่ลงรอย นานเข้าเกิดการแบ่งแยกเป็นกลุ่มๆ ส่งผลให้เกิดการขาดประสิทธิภาพการทำงานและการประสานงาน และจบลงด้วยอัตราการลาออกที่เพิ่มสูง

ในแต่ละปีองค์กรต้องสูญเสียคนเก่งและมีความสามารถไป เพราะเรื่องสาเหตุเล็กนิดเดียว คือ เราไม่ฟังกัน สิ่งเหล่านี้เป็นปัญหาที่องค์กรต้องเผชิญ แต่จะมีทางแก้ไขอย่างไร....
……………………………

ไดอะล็อค ถือเป็นกระบวนการหลัก ที่ใช้ในการฝึกทักษะการฟัง และถือว่าเป็นกระบวนการในการสร้างความเข้าใจร่วมกัน เสริมความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันระหว่างทีมงานอีกด้วย

มีกรณีศึกษาตัวอย่าง จากผู้บริหารธุรกิจวิศวกรรมพลังงานหมุนเวียนและสิ่งแวดล้อม ซึ่งหากบอกชื่อบริษัทกับผู้ที่อยู่ในแวดวงเดียวกัน ก็ต้องร้องอ๋อ เพราะมีผลงานชนะเลิศด้านพลังงานระดับอาเซียนถึง 6 ปีซ้อน

ผู้บริหารหญิงวัย 59 ปีท่านนี้ มาฝึกไดอะล็อคกับผมอย่างต่อเนื่อง แล้ววันหนึ่งก็เขียนจดหมายมาเล่า ว่าได้นำไปประยุกต์ใช้ในองค์กรอย่างไร ต่อไปนี้เป็นเนื้อความบางส่วนในจดหมายของท่าน

โดยทั่วๆไปแล้ว ในการทำงาน เมื่อเราคุยกับลูกน้อง เราจะฟังไปคิดไป มีข้อมูลมากมายวิ่งอยู่ในหัว และยิ่งมีตำแหน่งหน้าที่ หรือความรับผิดชอบเกี่ยวกับเรื่องนั้นๆมาเกี่ยวด้วย ทำให้ยิ่งต้องคิดหนัก ไม่เคยได้ตั้งใจฟังจนจบ เราก็มักจะมีข้อมูลที่แน่นหนา พร้อมสวนกลับทันทีที่ได้ยินอะไรไม่ถูกไม่ควร

กติกาที่สำคัญในการไดอะล็อคคือ “การรับฟังอย่างไม่ตัดสิน” เพราะในการตัดสิน เราจะต้องวิเคราะห์หาเหตุและผล ใช้ความคิดมากในขณะรับฟัง

เมื่อได้นำทักษะการฟังจากไดอะล็อคมาใช้ในการทำงาน “ทำให้เรามีความช้าลงในการตัดสิน” ไม่คอยจ้องแต่จะสอนงานหรือจับผิดอย่างเดียว มีโอกาสได้ฟังความคิดเห็นของลูกน้องจนจบ

เมื่อเราลดการตัดสินความคิดเห็นของพวกเขา ทำให้บรรยากาศในการทำงานผ่อนคลายตามไปด้วย เกิดผลดีคือ ได้ความคิดเห็นที่ดีๆมากขึ้น หลากหลายขึ้น “ลูกน้องเริ่มกล้าแสดงออกมากขึ้น” โดยที่เราไม่ต้องแนะนำมาก

มันจึงช่วย “ลดภาระในการตัดสินใจ” เพราะเขาจะกล้าคิดกล้าทำมากขึ้น ทั้งหมดนี้ ทำให้ใจเราโล่งได้ระดับหนึ่ง และถ้าทำได้มากขึ้น ใจคงเบาสบายมากขึ้น

ประสบการณ์จากการร่วมวงไดอะล็อค ทำให้เราได้ฝึก “ความซื่อสัตย์” ต่อสิ่งที่ได้เห็น สิ่งที่ได้ยิน ก่อนที่จะตัดสิน ด้วยการค้นหาข้อมูลมาประกอบการวิเคราะห์และตัดสินใจ ก่อนที่จะเชื่อ ทำให้ดิฉันเริ่มระมัดระวังและเตือนตัวเองให้รู้จัก “แยกแยะ” ว่าสิ่งที่กำลังได้ยินนั้น เป็นข้อมูลจากความจริง หรือเป็นความคิดเห็นจากการตีความของผู้พูดเอง

ซึ่งเมื่อนำไปใช้ ก็จะทำให้เราสามารถตัดสินใจในสิ่งต่างๆอย่างเป็นกลางมากขึ้น ไม่ลำเอียงเข้าข้างความคิดเห็นฝั่งใดฝั่งหนึ่ง หรือกระทั่ง “ลำเอียงเข้าข้างความคิดตัวเอง”

ความรู้สึกที่เคยหนักอึ้ง มาจนถึงปลายทางของชีวิตการทำงาน แต่เมื่อได้มาพบ “หนทางแห่งการฝึกตน” ก็ยังไม่สายเกินไปที่จะนำมาใช้ ในช่วงเวลามีค่าที่เหลืออยู่ คงทำให้ดิฉันได้ก้าวไปใน “การเดินทางแห่งความสุข” บ้างก็เป็นได้
…………

จากกรณีศึกษาจะเห็นว่า ทักษะการฟัง ถือเป็นปัจจัยสำคัญของภาวะผู้นำ การที่ผู้บริหารปรับทัศนคติและพฤติกรรมเพียงเล็กน้อย ก็สามารถช่วยในการพัฒนาทีมงาน ส่งเสริมให้ลูกน้องคิดเป็นแก้ปัญหาเป็น และภาคภูมิใจในตนเองได้

หากได้มีการนำไดอะล็อค มาประยุกต์ใช้ในองค์กร ถือเป็นนวัตกรรมการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่ส่งผลกระทบสูง นอกจากจะได้ประโยชน์จากการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างทีมงานแล้ว จะได้เรื่องการจัดการความขัดแย้ง การบริหารความสัมพันธ์ เป็นการปลูกฝังภาวะผู้นำ ค่านิยมและสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ดีในระยะยาว

เรียกว่า งานได้ผล และคนก็เป็นสุข ไปพร้อมๆกัน...
....................
คอร์สอบรม "Dialogue ศาสตร์แห่งการหันหน้าเข้าหากัน" ผมจัดเป็นประจำทุกเดือน 


วันพุธที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2557

ศิลปะการจัดการความขัดแย้ง (2)

จากตอนที่แล้ว ได้กล่าวถึงปัญหาที่เกิดขึ้นกับแนวทางเดิมๆที่เราใช้ในการสื่อสาร เมื่อเวลามีความขัดแย้ง ไม่ว่าจะเป็นการเผชิญหน้า การเบี่ยงเบน หรือการเงียบ ซึ่งจะเห็นว่าไม่ได้ช่วยแก้ไขปัญหาการขัดแย้งได้เลย

ดังนั้นในครั้งนี้ เรามาลองดูแนวทาง ที่ทำให้เราสามารถจัดการกับความขัดแย้งในความสัมพันธ์ได้อย่างน่าทึ่ง สรุปออกมาเป็นกระบวนการ 7 ขั้นตอนดังนี้

1. หยุดการโต้เถียง

เมื่อเกิดความไม่ลงรอยใดๆขึ้น ทำท่าจะบานปลาย เป็นการปะทะคารมหรือความ ให้เราหยุดการโต้เถียงทันที อย่าให้ลุกลามเป็นการทะเลาะที่รุนแรง เพราะถ้าไม่เข้าใจกันแล้ว ต่างหาเหตุผล จะไม่มีใครฟังใคร มีแต่พูดให้อีกฝ่ายฟัง บังคับให้อีกฝ่ายเชื่อหรือยอมตาม ซึ่งย่อมจะไม่เกิดผลใดๆ นอกจากจะทำให้เหตุการณ์ตึงเครียดรุนแรงมากขึ้น

2. ดูแลใจตัวเอง

พอเราห่างจากเหตุการณ์ออกมาแล้ว ตอนนี้ให้เราใช้เวลาเงียบๆกับตัวเอง ทิ้งระยะให้สงบสติอารมณ์ได้ก่อน แล้วเริ่มถามตัวเองว่า เราไม่พอใจอะไร เราไม่จำเป็นต้องทน หรือทำเป็นยินยอม ทั้งที่ใจจริงไม่ยอม และขอให้เรามองความต้องการของตัวเองให้ออก ว่าเราอยากให้มันออกมาในรูปแบบไหน อะไรที่มันขาดหายไป

3. พร้อมรับผิดชอบ

เมื่อเราชัดเจนกับตัวเองแล้ว ให้ถามตัวเองว่า เราพร้อมจะเข้ามารับผิดชอบในความขัดแย้งครั้งนี้ไหม คนทั่วไป มักจะโทษอีกฝ่าย 100% ว่าเป็นสาเหตุของเรื่องราว เขาทำให้เราเสียใจ เขาต้องมาขอโทษเราสิ เขาต้องทำนู่น ทำนี่ ให้เราพอใจ เราถึงจะยอมดีด้วย ถ้าใครคิดแบบนี้ คงต้องรอไปอีกนาน เผลอๆไม่มีวันกลับมาดีกันได้อีกเลย

แต่หากเรามองให้ดี ทุกปัญหา เรามีส่วนที่ต้องรับผิดชอบด้วยเสมอ แต่ให้มองว่า มีอะไรที่เราทำได้ มีอะไรที่เราแก้ปัญหาได้บ้าง เฉพาะในส่วนของเรา ให้คำมั่นกับตัวเองว่า เราจะเป็นต้นเหตุ รับผิดชอบที่จะสานสร้างความสัมพันธ์นี้ให้กลับคืนมา

4.ปล่อยวางคำตัดสิน

เมื่อเราเข้าใจตนเองแล้ว ให้ลองมองว่า เราจะวางความเห็นของเราไว้ชั่วครู่ แล้วเริ่มมองเหตุการณ์เดิม ในมุมมองของอีกฝ่ายดูบ้าง ไม่ต้องมองว่าใครผิดใครถูก เราอาจจะไม่เข้าใจ แต่เป็นไปได้ไหม ว่าเราจะ ยอมรับ อย่างที่มันเกิดขึ้น อย่างที่เขาเป็นก่อน

5.ให้อภัย

ขั้นตอนนี้สำคัญมากๆ เราจะไม่สามารถสร้างความสัมพันธ์ใดๆกลับมาได้ หากเรายังโกรธ และไม่พร้อมจะให้อภัย เราไม่สามารถเคลียร์ใจ คุยเปิดอกกับใครได้ หากเรายังมองว่าเขาผิด เราถูก หรือเขาด้อยกว่า เราเหนือกว่า จะสร้างพื้นที่แห่งความเข้าใจได้ ต้องมาจากความเท่าเทียมและปราศจากการกล่าวโทษ

เราต้องใช้จิตใจที่มีเมตตา และเต็มเปี่ยมไปด้วยความรัก เราถึงจะให้อภัยคนๆหนึ่งได้โดยไม่มีเงื่อนไข แม้ว่าเขายังไม่ได้เปลี่ยนไปเลย แต่เราสามารถให้อภัยเขาก่อนได้

6.กล้าเปราะบาง

ปล่อยวางความเป็นผู้ถูก ความที่เราต้องดูดี วางหัวโขนใดๆที่สวมใส่ไว้ ไม่ว่าอยู่ในฐานะอะไร แล้วยอมเปราะบาง ยอมห่วยไม่ต้องดีก็ได้ ยอมอ่อนแอ ไม่ต้องเก่งก็ได้ เป็นเพียงคนธรรมดาๆที่พร้อมจะเรียนรู้และรับฟัง พร้อมจะมองจากมุมมองที่แตกต่าง พร้อมจะทำความเข้าใจ และไม่ปกป้องตัวเอง

มาถึงจุดนี้ เราจะสามารถปลดพันธนาการทางใจออกไปได้หมดแล้ว เราพร้อมแล้วที่จะเดินเข้าไปหาเขา ขอโทษในสิ่งที่เราทำผิด ให้อภัยในความพาดพลั้งไม่ตั้งใจของเขา เราพร้อมจะเปิดใจและพร้อมที่จะรับฟัง เรียนรู้ในมุมมองของเขา

7.สื่อสารโดยไม่คาดหวัง

ให้เราสื่อสารด้วยความเท่าเทียม เคารพในความคิดเห็น มุมมองของเขา ไม่พยายามจะยัดเยียดความคิดของเรา ไม่พยายามเปลี่ยนแปลงความคิดเขา ไม่พยายามแก้ไข ไม่คาดหวังว่าเขาจะเข้าใจ ตอบรับ หรือมาคืนดีกับเรา นั่นไม่สำคัญเลย

สิ่งสำคัญก็คือ เราได้เคลียร์ใจตัวเองได้หมดแล้ว ไม่ว่าเขาจะรู้สึกอย่างไรกับเรา ก็ไม่เปลี่ยนแปลงความรู้สึกของเราที่มีต่อเขาได้ คำพูดไม่ว่าจะเต็มไปด้วยเหตุผลมากแค่ไหน มันไม่อาจเปิดใจของเขาได้เท่ากับ “ท่าทีของเรา” ที่เข้าไปพูดกับเขาด้วยความรักและมิตรภาพ ปราศจากโทสะและกำแพงแห่งอคติเหมือนก่อนหน้านี้

มีข้อสังเกตว่า ข้อสุดท้ายนี้ เป็นเพียงข้อเดียว ที่เรามีการกระทำหรือปฏิสัมพันธ์กับคู่กรณีส่วนข้อ 1-6 นั้น เป็นการเตรียมเรื่องภายในใจของเราเพียงฝ่ายเดียวดังนั้นเราจะเห็นได้ว่ากระบวนการจัดการความขัดแย้งที่กล่าวมา ไม่ได้เกี่ยวกับเทคนิคการสื่อสาร ทักษะการพูด หรือการปฏิบัติตัวอย่างให้เหมาะสมอย่างไรเลย

หัวใจสำคัญก็คือ “การจัดการภายในใจ” ของเราล้วนๆ จึงนับว่าเป็น “ศิลปะเพื่อจัดการความขัดแย้ง” อย่างแท้จริง...
.........................

โดย “เรือรบ” ปรับปรุงจากบทความในวารสารกายใจ กรุงเทพธุรกิจ ฉบับ ม.ค.56

คอร์สอบรม "Dialogue ศาสตร์แห่งการหันหน้าเข้าหากัน" ผมจัดเป็นประจำทุกเดือน 
อ่านรายละเอียดหลักสูตรที่ http://www.learninghub.in.th/events/dialogue


วันอังคารที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2557

ศิลปะการจัดการความขัดแย้ง (1)


วงไดอะล็อคหรือสุนทรียสนทนา ซึ่งเกิดจากการรวมตัวกันของคนแปลกหน้า นัดหมายกันผ่านเพจในเฟสบุ๊ค ของ Dialogue Oasis ได้จัดอย่างต่อเนื่องเดือนละ 2 ครั้ง มาจนถึงปัจจุบัน ไม่น่าเชื่อว่าผ่านมาได้ครึ่งปีแล้วทีเดียว

เรามีสมาชิกมาเรียนรู้ร่วมกันเป็นขาประจำราวสิบคน และมีอีกเป็นสิบคนที่แวะเวียนเปลี่ยนหน้ากันมา ในทุกๆครั้ง ก็มักจะมีเพื่อนใหม่เข้ามาด้วยเสมอ ซึ่งก็จะมีเรื่องใหม่ๆที่น่าสนใจเข้ามา ให้เราได้เรียนรู้มากขึ้น

ในวันนี้ก็เช่นกัน มีพี่ผู้หญิงท่านหนึ่ง เป็นระดับผู้บริหารของบริษัท ดูท่าทางเป็นคนมุ่งมั่น จริงจัง และมีความมั่นใจในตัวเองสูง ได้เปรยคำถามขึ้นมาตอนหนึ่งว่า ตัวเองเป็นคนตรงไปตรงมา เห็นอะไรผิดก็ว่าตามผิด จะทนอยู่เฉยๆไม่ได้ ต้องบอกว่าอะไรถูกอะไรผิด ไม่มีหยวน ไม่มีประนีประนอม

ด้วยลักษณะนิสัยแบบนี้ มีหลายคนคอยเตือนเสมอ ว่าตนทำให้คนอื่นเสียใจมามาก โดยเฉพาะคนใกล้ตัว แต่ตัวเองก็ไม่เห็นว่า มันมีอะไรที่ผิดหรือไม่ดี คนเราพูดกันด้วยเหตุด้วยผลแล้ว ก็น่าจะเพียงพอ เลยอยากรู้ว่า คนอื่นๆมีวิธีจัดการกับการขัดแย้งกันอย่างไร มีวิธีอื่นอีกไหม ในการจัดการเรื่องความสัมพันธ์กับคนใกล้ชิด

การจุดประเด็นเรื่องนี้ขึ้นมา ดูเหมือนจะเป็นที่สนใจจากสมาชิกในวงอย่างมาก เกิดการแชร์ประสบการณ์ตรงและแลกเปลี่ยนความคิดกันอย่างกว้างขวาง ดูเหมือนจะสรุปแนวทางการจัดการ เมื่อเกิดความขัดแย้งกับคนใกล้ชิด ได้ดังนี้

หนึ่ง เผชิญหน้าอย่างตรงไปตรงมา เคลียร์กันไปเลยว่าใครผิดใครถูก เปิดอกคุย ว่ากันด้วยหลักเหตุผล

สอง ใช้วิธีหลีกเลี่ยงไม่พูดถึงปัญหา เพราะไม่อยากมีปัญหาบาดหมางใจ ทำเนียนข้ามไปเรื่องอื่นเลย เดี๋ยวก็ดีกันเอง

สาม ใช้วิธีเงียบ ไม่สื่อสาร อาจไม่พอใจหรือเคืองๆอยู่บ้าง แต่ก็อดทน เก็บไว้ ถ้าไม่เหลือบ่ากว่าแรงจริงๆ ก็ช่างมันเถอะ

.........................


ทั้งสามวิธี ดูเหมือนจะเป็นวิธีที่เราใช้กันอยู่โดยทั่วไป ซึ่งเราก็มักจะหลีกเลี่ยงไม่ได้ กับผลกระทบที่ตามมา เมื่อลองให้แต่ละคนแชร์ประสบการณ์ ว่าพอใช้วิธีที่ตัวเองถนัด ในสามวิธีนี้แล้วเกิดอะไรตามมาบ้าง

วิธีแรก เมื่อเราเปิดอกเคลียร์กันด้วยเหตุผล มักจะเกิดการโต้เถียงกัน สุดท้ายหากเหตุผลเราแน่นกว่า เราเป็นฝ่ายถูก เค้าก็ต้องยอมรับ แต่ทุกครั้งพบว่า บรรยากาศระหว่างนั้นจะอึดอัดตึงเครียด และความสัมพันธ์หลังจากนั้นจะแย่ลงเสมอ ต่างคนแยกจากกันด้วยความรู้สึกไม่ดี ทำให้บางคนออกห่างเราไป ไม่มาปรึกษาเราอีก หรือไม่สนิทกันเหมือนเดิม

แต่บางครั้งก็จะมีปัญหาว่า เราอยากจะเคลียร์ปัญหาเรื่องนี้ แต่เพื่อนกลับหลบลี้หนีหน้า หรือบ่ายเบี่ยงไปเรื่องอื่น หรือทำเฉยชาไม่สนใจ มันก็ยิ่งทำให้เราโมโห และไม่เข้าใจว่า ทำไมไม่คุยกันให้จบๆไป

วิธีที่สอง เมื่อไม่อยากเผชิญหน้า เราทำเนียนเปลี่ยนเรื่องไป แต่เมื่อปัญหายังไม่ถูกแก้ไข แล้วเกิดประเด็นปัญหาเดิมซ้ำขึ้นมาอีกครั้ง และอีกครั้ง ทำให้ในที่สุดเราก็ทนไม่ไหว ระเบิดออกมา เพื่อนก็ไม่เข้าใจว่า ทำไมเราถึงไม่พอใจได้ขนาดนี้ ก่อนนี้ก็ไม่เห็นจะเดือดร้อนอะไรนี่นา

แล้วเพื่อนก็จะใช้วิธีเดิมย้อนกลับ นั่นคือ ทำเปลี่ยนเรื่องไป หาเรื่องอื่นมาเอาใจ พยายามทำอะไรก็ได้ให้ลืมๆมันไป ทิ้งปัญหาไว้ให้อยู่ในที่ๆเดิม รอวันที่จะปะทุขึ้นมาใหม่...

วิธีที่สาม เมื่อใช้วิธีอดทน และให้อภัย ช่วงแรกๆก็พอทนไปได้ นานๆไปเรากลับรู้สึกเครียด อึดอัด เก็บกด มากเข้าๆ แล้ววันหนึ่งมันก็ปะทุ ปรี๊ดแตกทะลุปรอทขึ้นมา เพื่อนก็จะตกใจ งง ไม่เข้าใจ แล้วก็ถามว่า ทำไมเพิ่งจะมาบอกว่าเราไม่ชอบเรื่องนี้ เราก็จะบอกอย่างเหลืออดว่า ไม่ชอบมาตั้งนานแล้ว แต่คิดว่าจะเธอน่าจะสังเกตได้บ้าง เรื่องแค่นี้น่าจะรู้ได้เอง น่าจะปรับปรุงตัวเองได้ เรื่องง่ายๆแค่นี้น่าจะเข้าใจ เรื่องเล็กๆ ไม่น่าให้มันเป็นเรื่องเลย

แต่เราหารู้ไม่ว่า ก็เพราะเราเองนั่นแหละ ที่เก็บเรื่องเล็กๆไว้ จนมันบานปลายเป็นเรื่องใหญ่โตได้ แล้วพอความสัมพันธ์มันร้าวไปแล้ว ก็ยากที่จะกลับมาเหมือนเดิมได้ เราเองก็เป็นพวกที่ทำใจไม่ได้ง่ายๆซะด้วยสิ....

........................

สรุปแล้ว ทั้งสามวิธี ไม่น่าจะใช่วิธีที่ดีในการจัดการเรื่องความขัดแย้ง หรือดูแลความสัมพันธ์กับคนใกล้ชิด

อย่างไรก็ตาม ในชีวิตที่ผ่านมาของแต่ละคนนั้น เราก็ใช้วิธีทั้งสามนี่แหละ เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา กลับไปกลับมา แล้วก็สงสัยว่า ทำไมความสัมพันธ์ไม่เวิร์ค ตรงก็แล้ว หยวนก็แล้ว ไม่สนใจก็แล้ว แต่ทำไม ปัญหาไม่เคยหมดไปเสียที จะทำยังไงดี มีวิธีอื่นๆอีกไหม

มาถึงตอนนี้ ก็เริ่มมาระดมความคิดกันใหม่ ว่าจะหาทางออกกับปัญหาเรื่องนี้อย่างไร สมาชิกแต่ละคน ค่อยๆลำเลียงภาพเหตุการณ์ในอดีต ที่รู้สึกว่า ทำแล้วสามารถสานสัมพันธ์กลับมาได้อย่างดี

ผมนั่งฟังอย่างตื่นเต้น คอยจดยิกๆ เหมือนจะได้ค้นพบสูตรลับอะไรบางอย่าง จากเรื่องราวประสบการณ์ของเพื่อนๆในครั้งนี้เอง

แล้วผมก็ได้ข้อคิดเห็นที่น่าสนใจ เป็นเหมือนแนวทางที่ทำให้เราสามารถจัดการกับความขัดแย้งในความสัมพันธ์ได้อย่างน่าทึ่ง โดยลองประมวลสรุปออกมาเป็นกระบวนการ 7 ขั้นตอน ซึ่งจะขอกล่าวถึงอย่างละเอียดในตอนต่อไป

....................

คอร์สอบรม "Dialogue ศาสตร์แห่งการหันหน้าเข้าหากัน" ผมจัดเป็นประจำทุกเดือน 
อ่านรายละเอียดหลักสูตรที่ http://www.learninghub.in.th/events/dialogue


วันอังคารที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2557

ความจริง: เหตุแห่งความขัดแย้ง


ข้อจำกัดสำคัญที่มักจะก่อให้เกิดปัญหาใหญ่ในวงสนทนา นั่นก็คือการขัดแย้งกันด้วย ความคิดเห็นและความเชื่อซึ่งมีพื้นฐานมาจากสิ่งที่เราเรียกว่า ความจริง

เมื่อใครก็ตามนิยามความจริงนี้ให้กับเรื่องใดๆ มันจะเป็นความเชื่อฝังใจ เปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่นไม่ได้เลย ยกตัวอย่างเช่น ต้องมีเงินมากพอเพื่ออนาคตที่ดีกว่า ต้องมียศตำแหน่ง มีอำนาจบารมี เพื่อให้เราภาคภูมิอยู่ในสังคมนี้ได้ ต้องรักษาเกียรติยศศักดิ์ศรีไว้ ยิ่งกว่าชีวิตของตนเอง

ต้องทุ่มเทให้มีความสำเร็จในหน้าที่การงาน เพื่อพิสูจน์ว่าเราก็ไม่ได้น้อยหน้าใคร แต่ละคนก็จะมีความจริงที่แตกต่างกันออกไป และก็มักจะเชื่อและยึดถือแนวทางนั้นในการใช้ชีวิต

เรามี ความจริงของเราแต่มีบางคนที่มี ความจริงในแบบของเขาแล้วถ้าหากสองสิ่งนั้น มีประเด็นที่แตกต่างหรือซ้อนทับกัน คราวนี้จึงเกิดเป็นความขัดแย้งกันขึ้น

ยิ่งเราเห็นว่าความจริงนั้นสำคัญมาก จนมันเป็น ความจริงสูงสุดพลังแห่งความขัดแย้งก็จะมากขึ้น มันจะขับเคลื่อนให้เรา ทำอะไรที่จำเป็นต้องทำลงไปอย่างง่ายดาย เราจะถูกเร้าให้ต้องแตกหักกับเรื่องๆนั้น แล้วก็ต้องเป็นฝ่ายชนะด้วย

บางทีความจริงสูงสุดนั้น ก็มีพลังมากกว่าสัญชาติญาณรักสงบของเรา มันมากพอที่จะทำให้คนเราสามารถเข่นฆ่าซึ่งกันและกันได้ เมื่อเราให้ความสำคัญกับสิ่งสมมติ อาทิ ประเทศชาติ ศาสนา ว่ามันเป็นความจริงสูงสุด ที่เราต้องพิทักษ์รักษาไว้ เราจึงจำเป็นต้องกระทำทุกอย่างเพื่อปกป้องสิ่งที่เราศรัทธาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
…………………..

ความชอบธรรมแห่งสงคราม
เมื่อกลุ่มสองกลุ่มที่มีคติความเชื่อที่แตกต่างกัน และเกิดมีความขัดแย้งเกิดขึ้น สมาชิกในแต่ละฝ่ายก็จะมีความคิดไปในทางเดียวกันว่า เราต้องหาทางกำจัดฝ่ายตรงข้ามให้ได้ หากมันยังอยู่ ก็จะมาคอยขัดขวางเรา และเป็นภัยอันตรายต่อกลุ่มของเรา หากเรากำจัดพวกมันไปได้ เมื่อนั้นเราจะได้เป็นอิสระ มีเสรีภาพที่มากกว่านี้ เราจึงจำเป็นและมีความชอบธรรมที่จะเข้าสู่สงคราม
คนเหล่านี้ คิดว่ามันเป็นการกระทำในสิ่งที่ถูกต้อง น่าภาคภูมิ แล้วผลลัพธ์นั้น ย่อมจะทำให้กลุ่มมีอิสระ เสรีภาพ

แต่ที่จริงแล้ว มันเป็นเพียงภาพลวงตา เพราะพวกเขายังติดอยู่ใน “กับดักทางความคิดของตนเอง” และถูกมันขับเคลื่อนให้ทำอะไรในทางที่จำกัดมากๆ นั่นก็คือ ไม่ดีก็เลว ไม่ถูกก็ผิด ไม่อยู่ก็ไป ไม่ชนะก็แพ้ จึงไม่นับว่า พวกเขามีเสรีภาพหรือมีความสร้างสรรค์ที่แท้จริงแต่อย่างใดเลย

บางคนบอกว่า อยากเป็นอิสระ ที่จะทำตามใจตัวเองได้เสมอ ทำเฉพาะสิ่งที่ตัวเองเลือก สิ่งที่ตนชอบ แต่เขาหารู้ไม่ว่า ภายใต้ “ความพอใจนั้น ถูกขับเคลื่อนจากสมมติฐาน กรอบความคิดของกระแสสังคม หรือความเชื่อค่านิยมบางอย่างอยู่ก่อนแล้ว หาได้เป็นความสร้างสรรค์ของคนผู้นั้นไม่ แถมมันยังเป็นกรอบความคิด ให้คนผู้นั้นไม่สามารถทำสิ่งที่ แตกต่างออกไปจากสิ่งที่เขาเชื่อได้ 

มันจึงเป็นข้อจำกัด และเป็นการถูกจองจำทางความคิด โดยที่ไม่รู้ตัว เป็นได้เพียง อิสภาพในกรงแคบ เท่านั้น
………………….

อิสรภาพที่แท้จริงคืออะไร
เราต้องเป็นผู้กำหนดความจริงสูงสุดได้ด้วยตัวเราเอง และหมั่นคอยสังเกตว่า สมมติฐานที่เรามองว่าความจริงสูงสุด ที่ขับเคลื่อนเราให้ทำหรือไม่ทำอะไรนั้น มันใช่สิ่งที่เราต้องการในเบื้องลึกจริงหรือไม่ มันใช่ทางเลือกของเราจริงๆหรือไม่ มิเช่นนั้นเราก็จะตกเป็นทาสทางความคิดของผู้อื่นไปตลอดชีวิต

คำถามต่อเนื่องก็คือ มันจะเป็นไปได้ไหม ที่จะไม่ต้องเกิดเหตุการณ์รุนแรง ซึ่งมาจากความแตกหักกันระหว่างสองฝ่าย ที่ต่างแบ่งขั้วตรงข้ามกัน และไม่สามารถเจรจา ต่อรอง หรือประนีประนอมยอมความกันได้
คำตอบก็คือ เป็นไปได้ แต่จะไม่เกิดขึ้นจนกว่าทั้งสองฝ่ายจะยอมปล่อยวาง หรืออย่างน้อย เริ่มตั้งคำถามกับตัวเองว่า สิ่งๆนี้มันใช่ ความจริงสูงสุดจริงๆน่ะหรือ

เมื่อได้ตั้งคำถามนี้กับตัวเอง บางทีก็จะเห็นว่า จริงๆแล้วก็ไม่ได้มีอะไรที่ “จริงสูงสุดหนึ่งเดียว” ถึงขนาดนั้น มันเป็นเพียงแค่ “ความเชื่อ และความคิดเห็น” ที่เราเลือกบอกว่ามันจริง แล้วพอเวลาผ่านไป มันก็เลยกลายเป็น “ความจริง” สำหรับเรา

เมื่อเห็นว่า เราเป็นผู้เลือกที่จะเชื่อเอง ไม่ได้มีใครบังคับ แล้วนั่นจึงเป็นโอกาสที่จะได้เริ่มละวางกับความยึดติดทางความคิดของตนเอง แล้วเกิดการหารือในมุมมองใหม่ที่ต่างออกไป ซึ่งไม่จำเป็นต้องมีฝ่ายใดที่ชนะหรือแพ้ แต่ได้พบทางออกใหม่ที่สร้างสรรค์ และ “สร้างความจริงใหม่” ร่วมกัน

ส่วนคำตอบที่ว่าจะทำอย่างไรนั้น เราแต่ละคนต้องทำการฝึกฝน เพื่อลดทอนอัตตา ความยึดมั่นถือมั่นในความคิดตนเอง ซึ่งหนึ่งวิธีการฝึกก็คือ “การเข้าสู่วงไดอะล็อค”

ซึ่งกระบวนการนี้ จะทำให้เราได้ฝึก “การห้อยแขวนคำตัดสิน” ด้วยการมองเห็นถึงความเชื่อส่วนตัว และยอมรับในความเชื่อของกลุ่ม ว่าสิ่งใดคือความจริงสูงสุดของแต่ละคน 

หากเราต้องการพูดคุยกันอย่างเท่าเทียม เราต้องห้อยแขวนคำตัดสินของตนไว้ก่อน และก้าวเข้าไปรับรู้โลกอีกใบ เพื่อทำความเข้าใจ หัวใจอีกดวงหนึ่ง บนพื้นฐานของความเชื่อและความจริงของเค้า

แล้วจึงจะเกิดการพูดคุยกันอย่างเป็นอิสระ ปราศจากอคติและกรอบความคิดเดิมๆของแต่ละคน นี่จึงจะก่อให้เกิดพื้นที่ใหม่ๆ ที่จะมีความสร้างสรรค์ และเป็นการสนทนาที่เป็นมิตรและมีสันติภาพต่อทุกฝ่ายอย่างเท่าเทียมเสมอกัน นี่ต่างหากคือ อิสรภาพที่แท้จริง
………………..


โดย “เรือรบ” ปรับปรุงจากบทความวารสารกายใจ หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ เมื่อ ส.ค.55


วันจันทร์ที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2557

กระจกสะท้อนชีวิต (2)

การที่เรามาเจอกันในวงไดอะล็อคนั้น ก็เพื่อฝึกฝนการสนทนารูปแบบใหม่ ที่เน้น “การรับฟังอย่างลึกซึ้งและไม่ตัดสิน” ทำให้เกิดการ “เข้าใจผู้อื่น” ส่งผลกลับมาเป็นการ “เข้าใจตัวเอง” มากขึ้น จนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาตนเองได้ในระดับเบื้องลึกของจิตใจในที่สุด
ผมเริ่มวงด้วยการให้สมาชิก “เช็คอิน” โดยเล่าให้เพื่อนๆในวงฟังว่า ในสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังจากเราเรียนรู้เรื่องไดอะล็อคไปแล้ว เรานำไปใช้ในชีวิตประจำวันอย่างไร และเกิดความเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง

น้องโบวี่ นักศึกษาแพทย์สาว ที่เคยมีปัญหาเก็บกดเรื่องคุณพ่อจากเมื่อสัปดาห์ก่อน วันนี้เริ่มเล่าเป็นคนแรกอย่างร่าเริงว่า “หนูกลับไปรับฟังคุณพ่อมาค่ะ ทำให้รู้ว่า จริงๆแล้ว คุณพ่อเค้าเป็นห่วงหนูมาก ที่เค้าบ่นเยอะๆ เป็นเพราะว่าเค้านั่นแหละที่เก็บกด มีเรื่องอะไรไม่กล้าคุยกับหนูตรงๆ พอเก็บไว้หลายวันเข้า ได้จังหวะพูดขึ้นมา มันก็เลยเหมือนระเบิดลง...

จริงๆแล้วมารู้ทีหลังว่า เค้าเตรียมตัวเตรียมใจตั้งนาน กว่าจะพูดกับหนูได้ พอเราคุยกันจบ เชื่อมั้ย หนูก็โผเข้าไปกอดเค้าเลย เพราะเรารับรู้ความรู้สึกของเค้าได้จริงๆ ว่าเค้าแคร์เรามากขนาดไหน หลังจากวันนั้นมา หนูก็มักจะกอดเค้ามากขึ้น แล้วก็พูดอะไรขำๆกับเค้ามากขึ้น เห็นเลยว่าบรรยากาศในบ้านเปลี่ยนไป เค้าดูผ่อนคลาย และหัวเราะกับเรามากขึ้น” สาวน้อยของเรายิ้มแก้มแทบปริหลังจากพูดจบ

คุณสายรุ้ง สาวออฟฟิตทำงานด้านงานวิชาการ เล่าสะท้อนเรื่องของตัวเองว่า “ปกติรุ้งเป็นคนคุยไม่เก่ง พอเราออกจากบ้านต่างจังหวัดมา แล้วก็มาทำงานในกรุงเทพ ทำให้ไม่ค่อยได้คุยกับแม่ พอโทรศัพท์หาแม่ ก็ได้แต่ถามว่า สบายดีมั้ย กินข้าวรึยัง คุยได้แค่นั้น ก็ไม่รู้จะพูดอะไรต่อ แล้วเลยก็วางหูเรารู้สึกเลยว่า เราห่างจากแม่มากขึ้นเรื่อยๆ

พอได้มารู้จักไดอะล็อค รุ้งก็นำไปใช้ เมื่อได้คุยโทรศัพท์กับแม่ รุ้งแค่รู้สึกว่า อยากฟังแม่พูด อยากให้แม่เล่า แล้วรุ้งก็แค่ฟังอย่างตั้งใจ ปรากฎว่า แม่เล่าเยอะมาก รุ้งก็คุยกับแม่สนุกมาก เพราะเราใส่ใจฟังเขา เราเห็นคุณค่าในสิ่งที่เขาพูด เราก็ยังพูดไม่เก่งเหมือนเดิม แต่เราฟังเก่งขึ้น การสนทนาและความสัมพันธ์ของเราก็ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด รู้สึกสบายใจมากเลยค่ะ”

คุณมาด เจ้าของกิจการส่วนตัว เล่าให้ฟังว่า “ผมยอมรับว่าเป็นคนใจร้อน ยิ่งตอนขับรถ ถ้าใครมาปาดหน้า หรือทำอะไรให้ไม่พอใจ ผมพร้อมมีเรื่องเสมอ ผมไม่เคยกลัวใคร

ไม่นานมานี้ ผมขับรถอยู่เพลินๆ พอดีมีรถเข็นขายของ โผล่ออกมาจากซอยทางขวา ผมก็เลยเบี่ยงหลบกะทันหัน ปรากฏว่ามีมอเตอร์ไซด์คันโต วิ่งแซงมาทางซ้ายพอดี ผมเกือบเบียดไปโดนเค้า เท่านั้นแหละ เค้าก็ขับเบียดปาดมาใกล้ๆ พยายามให้ผมหยุดรถ แล้วก็ชี้หน้าผมพร้อมกับส่งสายตาอาฆาตมาดร้าย มีเสียงด่าหยาบคายดังทะลุกระจกเข้ามาเลย

ผมรู้สึกจี๊ดขึ้นมาทันทีเหมือนกัน ผมจอดรถจะเปิดประตูลงไปฉะด้วย แต่ในชั่ววินาทีนั้น ด้วยการฝึกไดอะล็อค ที่สอนให้เราไม่ด่วนตัดสิน มันทำให้อยู่ๆ ผมก็เกิดมีสติขึ้นมาว่า ใครๆก็รักชีวิตเหมือนกับเรา คนๆนี้เค้าก็อาจบาดเจ็บหนักเพราะเราได้ เค้าเองก็มีสิทธิ์โกรธเหมือนๆกับเราเช่นกัน เมื่อคิดได้ดังนั้น ผมก็เลยยกมือขึ้นไหว้ท่วมหัวหนึ่งครั้งอย่างงามๆ พอเงยหน้าขึ้นมา คู่กรณีก็บึ่งรถหายไปแล้ว

ผมได้มาคิดย้อนดูอีกที อันที่จริง ผมก็มีลูกมีเมียแล้ว ถ้าเกิดมีเรื่องกับผู้ชายคนนี้ ใครจะรู้ ว่าผมจะได้กลับไปหาครอบครัวหรือเปล่า

ไม่ใช่ครั้งนี้ครั้งเดียว ที่ไดอะล็อคทำให้ผมเท่าทันตัวเองมากขึ้น ช้าลงในการตัดสินใจ ปกติที่ยอมใครไม่ได้ ผมก็ช้าลงในการตอบโต้ แล้วก็เหมือนมีอีกเสียงหนึ่งบอกตัวเองว่า เราไม่จำเป็นต้องเป็นอย่างเดิม ทำอย่างเดิมเสมอไป เราเลือกทำสิ่งใหม่ๆได้เสมอ...”
...................

เวลาผ่านไปแค่สองอาทิตย์ เพื่อนๆในวงของเรา ได้นำประสบการณ์ที่ได้กลับไปฝึกฝน เกิดการเปลี่ยนแปลงที่น่าทึ่งด้วยตัวของพวกเค้าเอง เกิดผลลัพธ์ที่ทำให้ชีวิตแต่ละชีวิต มีความสุขมากขึ้น และคนรอบตัวของพวกเค้าก็มีความสุขด้วยเช่นกัน

คงไม่มีใครมองเห็นจุดบอดของตัวเอง เพราะถ้ามองเห็น นั่นก็ไม่เรียกว่าเป็น “จุดบอด” จริงไหมครับ ยังมีสิ่งที่เราไม่รู้ ว่าไม่รู้อีกมากมายนัก และคงไม่มีใครจะทำให้เรามองเห็นได้ นอกจากสภาพแวดล้อมบางอย่าง ที่ผ่อนคลายมากพอ ทำให้เราเปิดใจมากพอ และเป็น “กระจกสะท้อนชีวิต” ที่ฉายให้เรา มองเห็นตัวเองได้ ในมุมที่เราไม่เคยมองมาก่อน...


เราเท่านั้นที่จะเป็นผู้มองเห็นตัวเอง โดยที่ไม่ต้องมีใครมาชี้นำสั่งสอน เราจะเป็นผู้เลือกที่จะเปลี่ยนแปลงการกระทำบางอย่าง ที่เห็นว่าเหมาะสมมีเหตุผลด้วยตัวเอง และพร้อมที่จะกลับมาแชร์เรื่องราวดีๆ และเรียนรู้ร่วมกันไปกับเพื่อนๆ กัลยาณมิตรในวงสุนทรียสนทนาของเราอีก ในครั้งต่อๆไป


วันพฤหัสบดีที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2557

กระจกสะท้อนชีวิต (1)

เมื่อผมได้เปิดพื้นที่ “วงฝึกไดอะล็อค” ให้กับเพื่อนใหม่ ที่ติดตามอ่านคอลัมน์ “การเดินแห่งความสุข” ของหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ให้มีโอกาสเข้ามาเรียนรู้ไปพร้อมกัน จึงนำพาให้เกิดการมาตั้งวงสนทนาพูดคุยกันเป็นประจำทุกวันเสาร์ สัปดาห์เว้นสัปดาห์

ในวันนี้ หลังจากแต่ละคนได้แนะนำตัว และกล่าวถึงจุดประสงค์ในการมาร่วมวงกันแล้ว เราก็เริ่มการสนทนาที่แปลกประหลาดที่สุด นั่นก็คือ พูดคุยกันโดยที่ไม่มีหัวข้อ ไม่มีวาระ ไม่มีประเด็น แล้วก็ปล่อยให้บรรยากาศในวงนำพาไป

เอ๋ หนุ่มวิศวกร เริ่มขึ้นมาว่าตัวเองรู้สึกรำคาญทุกครั้ง ที่พอกลับบ้านมาทีไร แม่ก็จะถามว่า “กินข้าวหรือยัง” ตัวเขาเองก็จะหงุดหงิด ว่าทำไมต้องถามด้วย ในเมื่อดึกขนาดนี้ก็ต้องกินมาแล้วแน่นอน เขารู้สึกว่าตัวเองโตมากแล้ว แม่ไม่ควรมาซักไซ้กับเรื่องแบบนี้

บางครั้งแม่ก็ชอบถามว่า ไปไหนมา ทำไมกลับดึก เขาก็ยิ่งไม่เข้าใจว่า ทำไมต้องอยากรู้ ในเมื่อเขาก็เป็นผู้ใหญ่แล้ว มีการมีงานทำ สิ่งเหล่านี้แม้เป็นเรื่องเล็กน้อย แต่พอเกิดบ่อยๆเข้า มันก็ทำให้เขาหงุดหงิด จนพูดไม่ดีกับแม่ไปก็หลายครั้ง

พี่มาด ชายวัยกลางคนท่านหนึ่ง กล่าวขึ้นด้วยน้ำเสียงเศร้าว่า ”ผมเคยรู้สึกรำคาญเหมือนกัน แต่ตอนนี้ ตัวผมเองกลับคิดถึงคำถามเหล่านี้จากแม่ ในวันที่ท่านจากไป ก็ไม่มีเสียงคำถามเหล่านี้อีกแล้ว เมื่อผมกลับมาบ้าน ก็ไม่มีเสียงใครถาม ไม่มีใครห่วง ไม่มีใครใส่ใจ

ผมโหยหาข้าวสวยร้อนๆราดแกง ที่แม่มักจะเตรียมไว้ให้เสมอ ไม่ว่าผมจะกลับบ้านมากี่โมง ข้าวจานนั้น คือสัญลักษณ์แห่งความอบอุ่น การเติมเต็มจิตใจให้กับผม...”

คุณลุงเสม ก็สะท้อนความรู้สึกในใจออกมาเช่นกัน “ผมเองอายุห้าสิบกว่าแล้ว แม่ท่านก็ชรามาก ท่านก็ยังถามผมทุกครั้งที่ผมกลับบ้าน ว่ากินข้าวมาหรือยัง เดี๋ยวนี้ แม้ว่าผมจะกินมาแล้ว ผมก็จะบอกว่า ยังครับแม่ แล้วก็จะเห็นท่าน ลุกขึ้น รีบกุลีกุจอหาสำรับกับข้าวมาให้

ไม่ใช่ผมอยากให้ท่านเหนื่อย แต่ผมสังเกตเห็นว่า ท่านจะดีใจทุกครั้งที่ได้หาข้าวให้ผมทาน ท่านได้ลุกขึ้นจากโซฟา ได้ออกแรง ได้ทำงาน ได้รู้สึกมีคุณค่าที่ได้ดูแลผม ผมจึงนั่งลง ทานข้าวจานนั้นด้วยความอร่อย และกล่าวขอบคุณท่านที่ดูแลผมตลอดมา...”

เรื่องราวเหล่านี้ เป็นเพียงส่วนหนึ่ง ที่ถูกนำพาออกมาจากเพื่อนผู้ร่วมวง อย่างเป็นธรรมชาติ
ไดอะล็อคเป็นบทสนทนา ซื่อๆ ตรงๆ ที่มาจากใจ ปราศจากการเสแสร้งตกแต่งให้ดูดี ปราศจากการเค้นบังคับหรือถูกกดดัน แต่มาจากการเต็มใจที่จะแบ่งปัน มาจากความจริงแท้เบื้องลึกในจิตใจของแต่ละคน

เรื่องบางเรื่อง ที่เราพบเจอกันอยู่ในชีวิต เรื่องที่เรารำคาญ หรือหงุดหงิดใจ แต่พอถูกแบ่งปัน ได้แลกเปลี่ยน ก็เกิดการเรียนรู้ร่วมกัน แล้วก็กลับถูกเรียงร้อยออกมาใหม่ ได้เป็นเรื่องราวที่มีคุณค่า ที่ทุกคนต่างอิ่มเอิบใจ และได้รับความหมายบางอย่างกลับไป โดยที่ไม่ต้องมีข้อสรุปที่ตายตัว ไม่ได้มีการสอนสั่ง แต่ละคนเลือกหยิบคุณค่าที่ตนเห็นว่าเหมาะสม กลับไปใช้ในชีวิตของตนเองได้ทันที

เพื่อนร่วมวง ก็เหมือนเป็น “กระจกสะท้อนชีวิต” ที่ทำให้เราได้มองเห็นตัวเอง ในหลายๆแง่มุม แจ่มชัดมากยิ่งขึ้น

การมองเห็นจุดบอดจุดบกพร่องของตนเองได้สักครั้งเดียว ก็อาจทำให้มุมมองต่อชีวิตของเรา เปลี่ยนไปได้จากหน้ามือเป็นหลังมือเลยทีเดียว

วันอังคารที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2557

การฟังอย่างลึกซึ้ง (Deep Listening) ตอน 2

ต่อจากตอนที่แล้ว มาเรียนรู้เทคนิคการฝึกการฟังอย่างลึกซึ้ง ใน 2 ข้อสุดท้าย

3.การแยกแยะ
เมื่อมีความคิดใดๆเกิดขึ้นให้มองลงไปแล้วทำการแยกแยะ ที่ผ่านมาเมื่อฟังอะไรก็ตาม ในทันทีจะเกิดปฏิกิริยาโต้ตอบโดยอัตโนมัติ ซึ่งโดยมากก็มาจากความทรงจำเดิมๆของเรา ซึ่งมันบรรจุแบบแผนการตอบสนองเดิมๆไว้

เช่น พอได้ฟังเรื่องที่กระทบกระเทือนจิตใจ ก็จะรู้สึกน้อยใจ ไม่พอใจ หรือเสียใจในทันที เราจึงไม่ได้โอกาสที่จะมีการตอบสนองต่อการฟังในรูปแบบใหม่ๆเลย ดังนั้นในการฝึกการฟังให้สังเกตว่า “เรามีการตัดสินผู้คนและสิ่งต่างๆรอบตัวอยู่เสมอ”

ฟังเสียงในหัวที่เราพูดวิพากษ์วิจารณ์สิ่งต่างๆเหล่านั้น แล้วถามตัวเอง ด้วยการแยกแยะว่า สิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆคืออะไร สิ่งที่เราตีความไปด้วยตนเองคืออะไร ในที่สุดเรามีปฏิกิริยาตอบสนองไปอย่างไร “จงระลึกไว้ว่าสิ่งที่เป็นความจริงกับสิ่งที่เราตีความ มันแยกออกจากกันได้เสมอ

4.วางเฉยและช้าลง
ฝึกที่จะวางเฉย และช้าลงในการตอบโต้บทสนทนาอย่างทันทีให้ได้มากขึ้นเรื่อยๆ และนานขึ้นเรื่อยๆ เพื่อปรับเปลี่ยนระบบการโต้ตอบอัตโนมัติของร่างกาย

ที่ผ่านมา ในหลายๆครั้ง เรามักจะกลับมาเสียใจในสิ่งที่เราพูดหรือกระทำลงไปโดยไม่ทันยั้งคิด ดังนั้นให้ใช้การสนทนาและการตั้งคำถามกับตัวเอง เพื่อเป็นเครื่องมือในการทำให้เรารู้จักตนเองมากขึ้น มากกว่าจะไปสนใจว่าเราต้องตอบโต้อย่างไรเพื่อรักษาจุดยืนของเรา หรือแสดงความคิดเห็นในสิ่งที่เราเชื่อว่าถูก

อย่างไรก็ตาม  การฝึกทักษะการฟังในวงไดอะล็อคที่เรากำลังทำอยู่นี้ ถือเป็นเพียงสนามซ้อมเท่านั้น เราไม่จำเป็นต้องทำให้ทุกอย่างถูกต้อง ดีพร้อมหรือสมบูรณ์แบบ หากแต่เมื่อได้มีโอกาสฝึกฝนมากเท่าใด เราก็จะสามารถพัฒนาทักษะการฟังของเราได้มากขึ้นเท่านั้น

ประสบการณ์ที่ได้ในวงสนทนา นั่นก็คือการเรียนรู้นอกตำรา ที่ไม่สามารถจะนั่งอ่านจากหนังสือแล้วทำความเข้าใจได้ หากแต่เป็นปัญญาปฏิบัติที่จะได้จากการเผชิญหน้ากับเหตุการณ์จริงเท่านั้นและไม่ช้าไม่นานเราก็จะเห็นผลลัพธ์และความเปลี่ยนแปลงในตัวเองมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อนั้นเราก็จะสามารถรับฟังผู้คนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ปราศจากอคติใดๆ

ในตอนต่อๆไป จะได้แนะนำเทคนิคที่มีประโยชน์ในการฝึกไดอะล็อคที่นอกเหนือจากการฟัง ซึ่งจะได้รวมแบบฝึกหัดและตัวอย่างจากประสบการณ์จริงมาแลกเปลี่ยนกันต่อไป...


วันอังคารที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2557

การฟังอย่างลึกซึ้ง (Deep Listening) ตอน 1

การฟังในกระบวนการไดอะล็อคนั้น ไม่เหมือนการฟังในระดับปกติทั่วไปในชีวิตประจำวัน เพราะเราจะไม่ฟังเพียงแค่ระดับของคำพูดหรือความหมาย แต่จะโอบอุ้มและยอมรับทั้งอารมณ์ ความรู้สึก ท่าทางการแสดงออกทั้งหมดของผู้พูด เพื่อรับฟังสารนั้นอย่างเต็มเปี่ยม

การฟังอย่างลึกซึ้ง คือ “การฟังด้วยทั้งหมดของหัวใจ ประหนึ่งว่าโลกทั้งใบ ณ ขณะนั้น มีเขาอยู่ตรงหน้าเราเพียงคนเดียว”

โดยเราจะไม่ตีความ ตัดสิน ประเมินค่า หรือวินิจฉัยว่าถูกหรือผิด จะเป็นเพียงการฟังแบบล้วนๆ อยู่กับปัจจุบันขณะ เสมือนว่าหูเของเราเป็นอวัยวะเดียวที่รับสารนั้นอยู่ ไม่มีตัวตนของเราที่จะต้องต้านทาน ปกป้อง หรือต่อสู้กับความคิดเห็นใดๆแม้ว่าจะขัดแย้งหรือแตกต่างจากความคิดเรา
เราจะฟังอย่างปล่อยวางจากความรู้เดิมๆที่เรารู้หรือเรียนมา แม้กระทั่งความรู้จักว่าผู้พูดมีนิสัยอย่างไรการคาดคะเนในสิ่งที่จะตามมา ทั้งนี้เพื่อให้เป็นการฟังที่ปราศจากอคติและสมมติฐานที่เคลือบแฝงใดๆทั้งมวล
....
การฝึกทักษะในการฟังอย่างลึกซึ้ง (Deep Listening)
หลายคนคงเริ่มรู้สึกกังวลว่า การฟังแบบที่ว่านี้ ในทางปฏิบัติจะทำยากมาก แต่เราก็สามารถฝึกฝนพัฒนาทักษะนี้ได้โดยมีเทคนิคให้ลองปฏิบัติตามด้วยกัน 4 ข้อ ดังนี้
  1. รับรู้อาการทางกาย
ในขณะที่ฟัง ให้สังเกตความรู้สึกและสังเกตปฏิกิริยาของร่างกายไปด้วย โดยคอยตั้งคำถามเสมอๆ ว่าตอนนี้เรารู้สึกอย่างไรอยู่ ร่างกายของเรามีปฏิกิริยาตอบสนองกับคำพูดนั้นๆอย่างไร แค่ให้รู้สึกตัวแล้วก็ปล่อยไป จากนั้นก็กลับมาฟังต่อเทคนิคนี้จะทำให้เรากลับมาอยู่กับปัจจุบันขณะได้มากที่สุด และไม่พลาดสาระสำคัญใดๆไปเลย

  1. รับรู้อาการทางใจ
ยอมรับความรู้สึกและอารมณ์ในขณะนั้น เมื่อใดก็ตามที่มีใครพูดในสิ่งที่เราไม่ชอบใจ ไม่อยากได้ยิน หรือกระทั่งกดปุ่มให้เราจี๊ดขึ้นมา สังเกตว่า หูจะปิด จะไม่ได้ยินเสียงพูดของเค้าแล้ว จะมีแต่เสียงโวยวายในหัวมากลบทับ เราจะอยากโต้ตอบหรือขัดแย้งขึ้นมาทันที บางทีอาจถึงขนาดอยากลุกขึ้นไปบีบคอ หรือลุกเดินหนีไปก็มี

เมื่อถึงจุดนี้ให้ติดตามความอึดอัดขัดเคืองใจที่เกิดขึ้นนั้นไป แล้วมองลึกเข้าไปให้ถึงที่มาของอารมณ์ในขณะนั้น เริ่มตั้งคำถามกับตนเองว่า อะไรคือสิ่งที่เราไม่ชอบ อะไรที่ขัดกับคุณค่าในใจของเรา มันทำให้เรารู้สึกอย่างไร

ให้ยอมรับในความรู้สึกนั้น แล้วจงเผชิญหน้ากับความแตกต่าง ด้วยการบอกกับตนเองว่า เราจะค้นหาสาเหตุของความไม่พอใจนี้ว่ามีที่มาจากอะไร เพื่อพัฒนาทักษะการฟังของเราให้สามารถฟังต่อไปได้ทั้งหมดโดยไม่มีเงื่อนไข


มีเทคนิคอีก 2 ข้อ โปรดติดตามต่อในตอนหน้าครับ


วันอังคารที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2557

ทฤษฎีการฟัง 3 ระดับ

หลังจากที่เรามาฝึกไดอะล็อคขั้นเริ่มต้นแล้ว เราสามารถคาดหวังว่า จะนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ หรือจะนำไปประยุกต์ใช้ได้อย่างไรบ้างในอนาคต ซึ่งก่อนอื่นเราควรจะรู้ว่าการฟังในกระบวนการไดอะล็อค แบ่งเป็น 3 ระดับด้วยกัน

การฟังระดับ 1: การฟังเสียงภายใน

ไม่ว่าจะอยู่คนเดียว หรือสนทนากับผู้อื่น เราใช้การฟังระดับนี้ ในการกลับมาดูใจตนเอง ฝึกฟังอารมณ์ ฟังความรู้สึกตนเอง ซึ่งจะทำให้เราสามารถมองเห็นตัวเองชัดเจนขึ้น ได้เข้าใจ และยอมรับตัวเองมากขึ้น เห็นการตัดสินหรือตีความอย่างอัตโนมัติ ที่ทำให้เกิดความโกรธ ความเศร้า เกิดอารมณ์ด้านลบ ชัดเจนขึ้น บ่อยขึ้น

แม้หลายคนจะรู้สึกแย่กับตัวเอง แต่นี่คือหนทางแรก ที่จะทำให้เราได้เห็นตัวเองและเป็นมนุษย์ที่แท้ ยอมรับในความไม่สมบูรณ์แบบของตัวเองได้ และเป็นช่องทางที่จะทำให้เราได้พัฒนาตนเองต่อไป

ประโยชน์ เมื่อฝึกได้บ่อยๆ เราจะเริ่มมี Self Awareness หรือ ความรู้สึกตัว มากขึ้น จะเริ่มช้าลงในการตัดสิน ช้าลงในการตอบโต้ มีสติตอบสนองต่อเหตุการณ์ได้เหมาะสมมากกว่า นับว่าเป็นการพัฒนาเปลี่ยนแปลงตัวเองในด้าน EQ หรือวุฒิภาวะขั้นสูง และเป็นการภาวนา หรือการพัฒนาตัวตนด้านในอย่างหนึ่ง         
................
การฟังระดับ 2: การฟังอย่างลึกซึ้ง

เมื่อมีคู่สนทนา สามารถนำไปใช้ได้ในทุกสถานการณ์ในการพูดคุย ตัวเราจะเป็นเพียงพื้นที่แห่งการรับฟัง เป็นพื้นที่ปลอดภัยให้เขาพูด

การฟังอย่างลึกซึ้ง คือการฟังไปมากกว่าถ้อยคำ ฟังถึงอวจภาษา อันรวมไปถึง ท่าทาง อารมณ์ ความรู้สึกทั้งหมด ฟังแม้ในสิ่งที่เขาไม่ได้พูดด้วย เราสามารถฝึกทักษะการฟังระดับ โดยการตั้งวงไดอะล็อคที่บ้าน หรือกับกลุ่มเพื่อนๆ

ประโยชน์ ก่อให้เกิดบรรยากาศการพูดคุยที่ผ่อนคลาย มีเวลาคุณภาพต่อกัน ทำให้ความสัมพันธ์ดีขึ้น เป็นกัลยาณมิตร ร่วมเดินทางเรียนรู้ ส่งเสริม ดูแลซึ่งกันและกันเป็นกลุ่มสังฆะ นั่นเป็นสิ่งที่สำคัญในการเดินทางสายจิตวิญญาณ หรือการเดินทางด้านใน
..................
การฟังระดับ 3: การฟังระดับสนามพลัง

เราจะเป็นผู้นำวง (Facilitator) ที่ดีได้ ต้องฝึกที่จะละวางอัตตา ความเชื่อ ความคิดเห็นส่วนตัว เหลือเพียงเป็นพื้นที่แห่งการรับฟัง รับฟังได้ทั้งคำพูดที่คนสื่อสาร และสิ่งที่ไม่ได้สื่อสารออกมา
จนสามารถได้ยินสนามพลังงานของความคิดของผู้คนทั้งหลาย ที่ไหลเวียนอยู่ในวงไดอะล็อคได้

ผู้นำวงที่มีประสบการณ์สูง จะสามารถโอบอุ้มและนำพาวงให้เกิดความสมดุล ผ่อนคลาย และมี Being หรือ สภาวะ ที่ทำให้วงไหลลื่น ไม่ติดขัด ด้วยการดูแลวาระของผู้คนได้อย่างเท่าเทียม ไม่ให้เกิดการพูดจนกินพื้นที่กัน ขณะเดียวกันก็มีศิลปะที่จะไม่ควบคุม จัดการ หรือแทรงแซงวง จนเกินความจำเป็น


ฝึกทักษะการฟังระดับ โดยการตั้งวงไดอะล็อคในที่ทำงาน ในชุมชน และสังคมใกล้ตัว
ประโยชน์ ทำให้เกิดการหันหน้าเข้าหากัน เกิดการเกี่ยวดองทางจิตใจ เกิดภาวะพึ่งพาอาศัย มีมิตรภาพต่อกัน ลดความขัดแย้ง ทำให้ประสานงานทำงานเป็นทีมได้ดี สามารถระดมความคิดสร้างสรรค์ ก่อให้เกิดกระบวนการจัดการความรู้ เกิดองค์กรมีชีวิตและเป็นองค์กรจัดการตัวเอง